การเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป ที่ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นวันใด? รู้แค่ว่า หลัง 16 ส.ค.
และยิ่งหาก ศาลรัฐธรรมนูญ ทำเซอร์ไพรส์ เกิดไปรับคำร้องของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งให้วินิจฉัยเรื่อง มติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการโหวตนายกฯ ก็ยิ่งทำให้ การโหวตนายกฯ ยิ่งต้องขยับออกไปอีก อย่างน้อยๆ เร็วสุดก็หนึ่งสัปดาห์
ทำให้กว่าจะโหวตเลือกนายกฯได้ อาจเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค.ก็ได้ แต่หากวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รับคำร้อง ก็คาดว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา คงรีบนัดประชุมร่วมรัฐสภา และบรรจุระเบียบวาระการเลือกนายกฯโดยเร็วที่สุด
สถานการณ์อึมครึมดังกล่าว ทำให้ส่งผลกระทบพอสมควร ทั้งในเชิงการเมือง-เศรษฐกิจ-การลงทุน โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ชะงักกันพอสมควร หลังผ่านการเลือกตั้ง 14 พ.ค. มาร่วมแปดสิบกว่าวันแล้ว แต่ประเทศไทย ยังไม่มีนายกฯ-ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียที จนภาคธุรกิจเริ่มส่งเสียงโอดครวญดังขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ในเชิงการเมือง-การจัดทัพอำนาจ จุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อการโหวตนายกฯดีเลย์ออกไป ก็ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องล่าช้าตามไปด้วย เพราะกระบวนการกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาได้ ต้องผ่านหลายขั้นตอน
ไล่ให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เช่น โหวตนายกฯเสร็จ ก็ต้องให้ประธานรัฐสภา นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ-จากนั้นรอการโปรดเกล้าฯ และรอเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เมื่อนายกฯเข้าเฝ้าถวายสัตย์เสร็จฯ ก็ต้องฟอร์มครม.-แบ่งเก้าอี้กันในพรรคตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาล คาดว่า เร็วสุดก็ประมาณ 5 วัน หรือหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นนายกฯนำโผครม. ส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นฯ เสร็จแล้ว นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และรอการโปรดเกล้าฯ เมื่อโปรดเกล้าฯรายชื่อครม.แล้ว ก็ต้องรอเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ และเมื่อเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯเสร็จ ก็ยังทำงานอะไรไม่ได้ ยังเข้าประชุมครม.ไม่ได้ ต้องรอแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาอีก
โดยนายกฯและรัฐมนตรีแต่ละคน รวมถึงทีมนโยบายของแต่ละพรรค ต้องมาประชุมกันเพื่อร่างนโยบายรัฐบาล โดยต้องประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก เช่น สำนักงบประมาณ-กระทรวงการคลัง-สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมเวลาแล้วให้เร็วสุดก็ประมาณหนึ่งสัปดาห์ในการยกร่างนโยบายรัฐบาล จากนั้น ส่งร่างนโยบายรัฐบาลให้ประธานรัฐสภาฯ
ตามด้วย ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลแถลงนโยบาย ที่ก็จะมีสส.จากรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงสมาชิกวุฒิสภา สามารถใช้สิทธิ์อภิปราย เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ที่ก็คาดว่า จะประชุมกันอย่างน้อยก็ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นปิดประชุมฯ และเท่ากับ นายกฯและครม.ถึงจะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ ประชุมครม.-เดินทางเข้ากระทรวงได้
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนต่างๆ ข้างต้น ในการได้มาซึ่งนายกฯและครม.ชุดใหม่และรอให้ครม.เข้าทำงาน ก็คาดว่าใช้เวลาเร็วสุด ก็ประมาณสามสัปดาห์ หลังโหวตนายกฯเสร็จ
ดังนั้น หากโหวตนายกฯ กันสัปดาห์ที่สามของเดือนส.ค. ให้เร็วแบบสุดๆ นายกฯและครม.ชุดใหม่ กว่าจะเข้าทำงานได้ ก็อาจประมาณกลางเดือนก.ย. อันนี้คือเร็วสุดแล้ว แต่หากดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ ก็คาดว่าอาจจะประมาณสัปดาห์ที่สามของเดือนก.ย.
อันนี้คือไทม์ไลน์กรณี การโหวตนายกฯ ที่จะมีขึ้น ถ้าชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” จากเพื่อไทย ผ่านม้วนเดียวจบ แต่หากไม่ผ่าน แล้ว “เพื่อไทย” ต้องเสนอชื่อกันใหม่ ที่มีอีกสองชื่อคือ “แพทองธาร ชินวัตร” และ “ชัยเกษม นิติศิริ” แล้วก็ยังไม่ผ่านอีก จน “เพื่อไทย” ต้องส่งไม้ต่อให้ “ภูมิใจไทย” ตั้งรัฐบาลแทน อย่างที่คนพูดกัน
ถ้าเป็นแบบนี้ กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯและรัฐบาล ก็ยิ่งขยับออกไปอีกเรี่อยๆ จนยากจะคาดเดาได้ว่า จะได้ตัวนายกฯและรัฐบาลชุดใหม่เมื่อใด!
ผลความล่าช้าในการได้ตัวนายกฯและรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
มองในเชิงการเมือง การที่มีนายกฯและครม.ชุดใหม่ล่าช้า ก็ทำให้อาจเข้าทาง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ก็ได้ ถ้าหากการตั้งรัฐบาลยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ เพราะด้วยระบบการบริหารราชการแผ่นดิน 30 ก.ย.นี้ ข้าราชการที่อายุครบ 60 ปี ก็ต้องเกษียณอายุ ทำให้ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ยกเว้นบางกรณีตั้งไม่ทัน ก็ต้องตั้งรักษาการไปก่อน
ดังนั้น หากได้ตัวนายกฯและครม.ชุดใหม่ช้า แต่หลายหน่วยงาน จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการ เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานเดินหน้าไปได้
ก็อาจเป็นเหตุผลให้ บิ๊กตู่ จัดทัพ “บิ๊กข้าราชการ” บางหน่วยงานได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจ ในฐานะ “รมว.กลาโหม” และยังเป็นนายกฯ ที่ลงมาดูแลหนวยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยตัวเอง นั่งเป็น “ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” หรือ ก.ตร.มาตลอดสี่ปีกว่า ซึ่งกฎหมายเปิดช่องไว้ว่า หากจะแต่งตั้งทหาร-ตำรวจ ให้ผ่านบอร์ดกลั่นกรอง ของสภากลาโหมและที่ประชุมมก.ตร.ได้เลย ไม่ต้องไปขอไฟเขียวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เหมือนกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน
ซึ่งปีนี้ มี “บิ๊กทหาร-บิ๊กตำรวจ” เกษียณอายุราชการกันหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งหลักๆ คือ ผบ.เหล่าทัพทั้งหมด ที่ปีนี้เกษียณยกแผง ไม่ว่าจะเป็น “ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.-ผบ.สส.” ยกเว้นปลัดกระทรวงกลาโหม เช่นเดียวกับ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ที่ “พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์” ผบ.ตร. ก็เกษียณอายุราชการปีนี้เช่นกัน
ขณะที่ข้าราชการพลเรือน ปีนี้ตำแหน่งหลักๆ ที่เกษียณก็เช่น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ-อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์-อธิบดีกรมการปกครอง-อธิบดีกรมที่ดิน เป็นต้น แต่ตำแหน่งข้าราชการพลเรือน หากครม.ประยุทธ์ ที่เป็นครม.รักษาการ จะพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ต้องขอไฟเขียวจากกกต.ก่อน ซึ่งดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ค่อยอยากเข้าไปยุ่งเท่าใดนัก เพราะเดี๋ยวจะโดยโจมตีว่า ทิ้งทวน วางคนของตัวเองไว้ก่อนอำลาตำแหน่ง
แต่ที่ “บิ๊กตู่” อาจเข้าไปแตะมากกว่า หากการตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็คือ การแต่งตั้ง “ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.-ผบ.สส.-ผบ.ตร.” เพราะอย่างของกองทัพ ก็มีข่าวว่า จะมีการประชุมบอร์ดสภากลาโหม เพื่อพิจารณาโผแต่งตั้งทหารประจำปี ในวันที่ 16 ส.ค.นี้พอดีเสียด้วย
ขณะที่เก้าอี้ผบ.ตร. ปีนี้ ชิงกัน 4 คน คือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เกษียณปี 2567, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณปี 2574. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกษียณปี 2567
เดิมที ตอนที่ “ก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ช่วงแรกๆ รัศมีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือ “บิ๊กโจ๊ก” กับ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มาแรงมาก จนมีข่าวว่าจะเบียดเต็งหนึ่ง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ที่เป็นคู่กรณีกับก้าวไกลเรื่อง “ตั๋วช้าง” กระเด็นหลุดวงโคจร
แต่ครั้นการเมืองพลิก “เพื่อไทย” ขึ้นมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน ทำให้ ตอนนี้รัศมี-บารมีของ “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” เริ่มกลับมาแรงอีกรอบ ว่าน่าจะลุ้นเข้าวิน เป็นผบ.ตร.
ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุไว้ว่า “สถานการณ์เวลานี้ นายกรัฐมนตรีรักษาการ สามารถคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ตามกฎหมาย หรือจะให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาดำเนินการ ก็สามารถทำได้ ถ้าตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง ก็สามารถตั้ง รอง ผบ.ตร.คนใดคนหนึ่งรักษาราชการไปพลางก่อน หรือให้เป็นการรักษาราชการโดย รอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ได้ (เคยมีกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งผบ.ตร.ได้ ต้องตั้งผู้รักษาการไปตลอดปี) ส่วนการแต่งตั้งระดับถัดไป (รอง ผบ.ตร.-ผบก.) ผบ.ตร.มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ แนวทาง หลักเกณฑ์ตามกฎหมายประมาณนี้ ขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี รักษาการ และ ผบ.ตร.จะใช้ดลุยพินิจพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป”
ต้องรอดูกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้สิทธิ์ทำโผแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพ-ผบ.ตร.เลยหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้นายกฯคนใหม่ และรมว.กลาโหม คนใหม่เข้ามาจัดการเอง
แต่ประเมินว่า ก็มีแนวโน้มพอสมควร ที่บิ๊กตู่น่าจะขยับทำโผรองรับสถานการณ์ไว้ก่อน โดยหากถึง 16 ส.ค.ดูแล้ว การเลือกนายกฯยืดเยื้อ จนทำให้มีรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้า พล.อ.ประยุทธ์ คงใช้สิทธิ์ตรงนี้ จัดทัพรอบสุดท้ายในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนวางมือการเมืองก็ได้
……………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”