ศิษย์เก่า มธ.ค้านมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ที่ให้คำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม ระบุหากไม่ใช่คำแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริง ขอให้ผู้บริหารออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่ แต่หากใช่ขอให้ผู้บริหารลงชื่อกำกับด้วย
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ คณะนิติศาสตร์ รุ่น 2507 ได้โพสต์ข้อความ ตามที่มีแถลงการณ์อ้างว่าเป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 8 มีนาคม2564 เรื่องขอให้คำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม นั้น
ข้าพเจ้าในนามของกลุ่มเพื่อนศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น2504 รุ่น2507 รุ่น2509 หลายคณะรวม 33 คน และในฐานะที่มีน้องหลานเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หลายคณะ รวม8คน ศิษย์ที่กำลังเรียนปริญญาโท1คน ขอเรียกร้อง ดังนี้
1.หากไม่ใช่แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จริง ขอให้ผู้บริหาร ทั้งอธิการบดี รองอธิการบดีออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่ แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย หากเป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยจริง ก็ขอให้ฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี หรือรอง ลงชื่อกำกับไว้ หรือชี้แจงต่อสาธารณชนว่าฝ่ายบริหารอันประกอบด้วยบุคคลใดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบกับแถลงการณ์ดังกล่าว
2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ผลิตบัณฑิตทางกฎหมายออกมารับใช้สังคมประเทศชาติมากมาย หลักการสำคัญที่ธรรมศาสตร์สอนกัน มานานคือประเทศไทยเป็นนิติรัฐปกครองด้วยหลักนิติธรรม บุคคลมีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็มีหน้าที่ควบคู่กันด้วย คือต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ละเมิดกฎหมาย
3. กรณีที่มีบุคคลกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรมต่างวาระที่กระทบถึงสถาบันสูงสุดของชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ของราชการ ละเมิดสิทธิเสรีของประชาชน ที่ต้องการอยู่ด้วยความสงบ ซึ่งศาลก็ให้สิทธิอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาหลายครั้งแต่หลังจากได้รับการปล่อยตัวก็กระทำผิดเดิมซ้ำซากอีก จนศาลใช้ดุลพินิจใช้อำนาจตุลาการ ตามรัฐธรรมนูญไม่ อนุญาตให้ปล่อยตัวขั่วคราว ก็มีการอ้างชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อ้างสิทธิตามกระบวนยุติธรรมมาออกแถลงการณ์ดังกล่าว จึงทำให้มีคำถามผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ในยุคที่ท่านเป็นผู้บริหารท่านมิได้สอนลูกศิษย์ให้เคารพกฎหมาย ให้เคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรืออย่างไร เมื่อลูกศิษย์หรือบุคคลอื่นที่อ้างชื่อมหาวิทยาลัยไปกระทำความผิด ท่านกลับมาอ้างสิทธิของผู้กระทำความผิดในกระบวนยุติธรรม ท่านคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้กระทำความผิดหลายสิบเท่าที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้กระทำความผิดหรือไม่
ศาลพิจารณาว่าผู้กระทำความผิดเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็ออกไปกระทำความผิดก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนส่วนใหญ่อีก ศาลจึงใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นผลดีแก่ประชาชนส่วนใหญ่ เหตุใดท่านจึงมาใช้ชื่อมหาวิทยาลัย มาทวงสิทธิให้ผู้กระทำความผิด โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ หรือท่านเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนเห็นดีเห็นงามกับผู้กระทำความผิด ที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น