นายกฯพอใจ BCG Model กระตุ้นลงทุนอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกแล้วกว่า 3.7 หมื่นล้าน หนุนไทยเบอร์ 2 ของโลกศูนย์กลางการผลิต-เป้าหมายลดปล่อยคาร์บอน-ก๊าซเรือนกระจกสร้างความตื่นตัวธุรกิจความยั่นยืน
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model สนับสนุนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ความชัดเจนทางนโยบายดังกล่าว ได้เริ่มแสดงผลต่อเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม จากการให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม BCG Model ของรัฐบาลว่า ด้วยศักยภาพด้านแหล่งวัตถุดิบเช่นอ้อย มันสำปะหลัง ที่แข็งแกร่ง ความพร้อมด้านบุคลากร และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐที่ชัดเจน ได้ทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติสนใจลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในไทยเพิ่มขึ้น จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลกแล้วในปัจจุบัน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนดึงดูให้บริษัทผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ระดับโลกลงทุนในไทยหลายราย ซึ่งข้อมูลของบีโอไอระบุว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีให้การส่งเสริมลงทุนในโครงการลงทุนพลาสติกชีวภาพ 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท
“แม้ยอดการลงทุนนี้จะไม่สูงเท่าอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยเป็นฐานผลิตใหญ่มายาวนานอย่างยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แต่นายกรัฐมนตรีก็พอใจกับการเติบโตดังกล่าว และถือเป็นความสำเร็จทางนโยบายอีกขั้นหนึ่ง เพราะนโยบายรัฐบาลได้กระตุ้นให้ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนตื่นตัวกับเศรษฐกิจ BCG Model อย่างมากซึ่งจะเป็นฐานสำคัญดึงดูดให้เห็นเงินการลงทุนที่มากขึ้นอีกในอนาคต” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศถึงเป้าหมายว่าประเทศไทยจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608) ก็นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนของไทย ตื่นตัวกำหนดเป้าหมายการทำงานสอดรับไปกับเป้าหมายดังกล่าว ภาคธุรกิจเอกชนให้ความสำคัญกับประเด็นการผลิตเพื่อความยั่งยืน เน้นสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินหลากหลายกิจกรรม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก อนุรักษ์พื้นที่ป่าเพิ่มการผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความร่วมมือของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอกชนบริษัทชั้นนำ 14 แห่ง และชุมชน เพื่อร่วมกันดูแล บริหารจัดการป่าชุมชนให้ได้คาร์บอนเครดิต และนำรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตนั้นย้อนคืนกลับไปให้ชุมชน ซึ่งโครงการระยะพัฒนาได้เริ่มในปี 2563 และกำลังดำเนินระยะขยายผลในปี 2566 มีป่าชุมชนที่ได้รับการดูแลบริหารจัดการแล้ว 129 แห่งใน 9 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และโครงการฯ มีเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วม เพื่อให้ได้เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2570
“นโยบายเศรษฐกิจ BCG Model เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ได้กระตุ้นให้ทุกภาคสวนตระหนักถึงการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นความตั้งใจที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าไปพร้อมกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นโลกร้อน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”น.ส.ไตรศุลี กล่าว