การนอนกรน อาจดูจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน เพราะในบางราย ขณะที่ กรน อาจมีการหยุดหายใจ จนทำให้ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงกลางวัน เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรืออาจจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้ และยังทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับ ศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center) โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายให้เราฟังว่า “เสียงกรน เกิดจากการที่ลมหายใจไหลผ่านช่องคอที่ตีบแคบ โดยเป็นเสียงของการสั่นพลิ้วสะบัดของลิ้นไก่ เนื้อเยื้อบริเวณเพดานอ่อน และช่องคอส่วนบน โดยการกรนนี้จะทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-60 ปี โดยมักพบภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจประมาณ 4% ในผู้ชาย และ 2% ในผู้หญิง
การนอนกรนสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การนอนกรนธรรมดา (primary snoring) และ การนอนกรนร่วมกับภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย (obstructive sleep apnea : OSA) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมานี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพโดยตรง ที่เห็นได้ชัด คือ ส่งผลต่อสุขภาพการนอนของคนรอบข้าง แต่ที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือ การนอนกรนแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับส่งผลให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกไม่สดชื่นหลังจากตื่นนอนและรู้สึกง่วงอยู่ การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะทำให้สมองและร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับสมองด้วย
ทั้งนี้ การนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ
· มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน โคนลิ้นและช่องคอส่วนบน ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจตีบแคบ
· ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนมากๆ เพราะจะทำให้ผนังคอหนาขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ส่งผลให้มีอาการกรน และเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ
· มีภาวะที่ทำให้โพรงจมูกอุดตัน เช่น โรคภูมิแพ้ที่ทำให้โพรงจมูกอักเสบ โรคเนื้องอกในโพรงจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ หรือมีผนังกั้นโพรงจมูกผิดปกติ
· มีโรคของต่อมทอนซิล เพราะต่อมทอนซิลอยู่ในลำคอ ดังนั้นหากมีการโตขึ้นของต่อมทอนซิลก็จะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีการกรนได้ โดยสาเหตุนี้มักเป็นสาเหตุ ‘การกรนในเด็ก’
· มีเนื้องอกหรือซีสต์ (cyst) ทางเดินหายใจส่วนบน
· การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดง่วง เพราะจะทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งจะทำให้มีการตีบแคบของช่องคอมากขึ้น ทำให้กรนมากขึ้นและเสียงกรนดังขึ้น”
ปัจจุบันโรงพยาบาลพระรามเก้าได้พบเทคนิคพิเศษ ที่สามารถนำมาช่วยรักษาอาการนอนกรนได้ คือ ‘การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม’ โดยแพทย์จะร้อยไหมที่เพดานอ่อนคล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า เป็นการรักษาที่เจ็บน้อย แผลเล็ก หายเร็ว จึงเป็นทางเลือกการรักษานอนกรนอีกวิธีหนึ่ง
พญ.เพชรรัตน์ กล่าวว่า “การรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหมที่เพดานอ่อน (barbed suspension pharyngoplasty) เป็นเทคนิคใหม่ และเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาการนอนกรนแบบที่มีการอุดกั้นทางเดินหายในส่วนบนและมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแพทย์ จะใช้ไหมทางการแพทย์เย็บตกแต่งลิ้นไก่ เพดานอ่อนและคอหอย เพื่อปรับให้โครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้น แก้ปัญหาการตีบแคบของทางเดินหายใจ
วิธีดังกล่าวนี้ คล้ายกับการร้อยไหมยกกระชับที่ใบหน้า ด้วยส่วนที่พบว่าทำให้เกิดเสียงกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มาก คือ เพดานอ่อน วิธีที่ใช้ผ่าตัดจึงมีหลายวิธี และวิธีที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน คือ วิธีร้อยไหมที่เพดานอ่อน มีข้อดีคือ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลหายไว ไม่มีปมไหมให้รู้สึกรำคาญเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม และผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่า
สำหรับ ‘ไหม’ ที่ใช้ จะเป็นไหมละลายที่มีเงี่ยงตลอดเส้น เพื่อเย็บตรึงเพดานอ่อนให้ยกขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน และแพทย์จะใช้เทคนิคการซ่อนปมให้อยู่ในเพดานอ่อนทำให้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกรำคาญ อาจต้องทำร่วมกับการผ่าตัดทอนซิลออกเพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวางแผนการรักษาให้เหมาะสมเป็นราย ๆ ไป นอกจากนี้ วิธีแก้และรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ยังมีทางเลือกอีกหลากหลายวิธี อาทิ การรักษา แบบไม่ผ่าตัด เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก CPAP การลดน้ำหนัก นอนตะแคง การใช้ยา การใส่ทันตอุปกรณ์ เป็นต้น”
“ในปัจจุบัน เทคนิคการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน เจ็บน้อย แผลหายเร็ว มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อย จึงเป็นการรักษา การนอนกรนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ดังนั้น หากท่านมีอาการนอนกรน ทั้งแบบธรรมดาและแบบที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนและหยุดหายใจร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจ การนอนหลับ(sleep test) ณ ศูนย์นิทรารมณ์ (Sleep center) โรงพยาบาลพระรามเก้า เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับก่อนการรักษา ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป” พญ.เพชรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย