หวิดวุ่น! “โรม” โวยรัฐสภาถูกถอนญัตติทบทวนมติเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯซ้ำ “ธีรัจชัย” กล่าวหาประธานไม่เป็นกลางเข้าข้างเสียงข้างมาก “วันนอร์”ิ ฉุนกล่าวหาร้ายแรง สั่งให้นั่งลง
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมน่วมกันของรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นทักท้วงกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่มีการบรรจุญัตติของตนเองที่ค้างอยู่ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2566 กรณีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติวันที่ 19ก.ค.2566 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่
โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตุใดไม่บรรจุญัตติ การตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพื่อให้มีการตีความให้เกิดความชัดเจน การอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อ151 ว่า มติใดที่ประชุมมีความเห็นเป็นเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถทบทวนไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องถือตามคำวินิจฉัยตลอดไป โดยไม่สามารถทบทวนได้ แต่หากรัฐสภาจะทบทวนสิ่งที่เคยวินิจฉัยไป ย่อมทำได้ เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษาตัวเอง รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า การเลือกนายกฯให้เลือกจากแคนดิเดตนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอมา แม้จะเสนอชื่อใครไปแล้ว ถ้าลงมติไม่ผ่าน ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดตอีกต่อไป ความเป็นแคนดิเดตยังมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูก พวกท่านอาจไม่อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่อย่าถึงขั้นเผาบ้าน เพื่อไล่หนูตัวเดียว เราจะวางบรรทัดฐานกันถึงขนาดนั้นเลยใช่ไหม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นประธานรัฐสภา ได้ตัดบทขอให้นายรังสิมันต์หยุดอภิปราย เพราะพูดมานานแล้ว ไม่ได้ขัดขวางการอภิปราย แต่นายรังสิมันต์ได้พูดครบประเด็น จนสมาชิกเข้าใจแล้ว ควรพอเท่านี้ อีกทั้งในการประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็มีการรับรองความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภา บอกว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถทบทวนได้ เพราะเป็นความเห็นเด็ดขาดไปแล้ว ถ้าไปทบทวนอาจเกิดความลังเลได้ ดังนั้นในฐานะประธานรัฐสภาขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ใช้อำนาจวินิจฉัย ไม่รับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ที่เสนอด้วยวาจา รวมถึงญัตตินายสมชาย แสวงการ สว. ที่เสนอญัตติคัดค้านญัตตินายรังสิมัตน์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2566
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำให้สส.พรรคก้าวไกลหลายคน พยายามโต้แย้งคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เสียเวลาไปร่วม 30 นาที โดยเฉพาะนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. ที่ระบุว่า ประธานรัฐสภาวางตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก
ทำให้นายวันนอร์ ไม่พอใจ กล่าวตอบโต้ด้วยน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ทันทีว่า ขอให้ถอนคำพูดว่าตนรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอนคำพูดจะไม่อนุญาตให้พูดต่อ เพราะเป็นการกล่าวหาตนอย่างรุนแรง ยืนยันว่า ตนซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
แต่นายธีรัจชัยพยายามจะพูดต่อ ทำให้นายวันนอร์กล่าวอย่างฉุนเฉียว และสั่งว่า “ขอให้นั่งลง คุณจะนั่งลงไหม คำสั่งประธานถือเป็นเด็ดขาด” ทำให้นายธีรัจชัยมีท่าทีอ่อนลง
จากนั้นนายวันนอร์ได้ใช้อำนาจสั่งให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไป