ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังดอลลาร์แข็ง-นักลงทุนแห่ซื้อทองคำในช่วงจังหวะย่อตัว ขณะที่ประธานเฟดสาขาริชมอนด์หนุนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.93-35.12 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลง ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการย่อตัวลงของราคาทองคำ (คาดว่ายังคงมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า) ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลง และราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง
ถ้อยแถลงล่าสุดของ Thomas Barkin ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารภูมิภาคหลายแห่งที่เผชิญการปรับลดเครดิตเรทติ้งจากทาง S&P ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี Dowjones ปรับตัวลง -0.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.68% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ทั้งกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Rio Tinto +1.3%, LVMH +0.8%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML +3.3%) ท่ามกลางความหวังว่า งบของบริษัท Nvidia สหรัฐฯ ผู้ผลิต Chip ชั้นนำจะออกมาแข็งแกร่ง
ขณะที่ตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่าเฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดราว 45% และมีโอกาสราว 83% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยจนถึงการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนปีหน้า) ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดใหม่ แถวระดับ 4.37% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมาบ้าง ตามแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนในตลาด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.32%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.1-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กดดันให้ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,918-1,928 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้ เรายังคงเห็นความพยายามในการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งก็มาจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดในจังหวะย่อตัว หรือ การทยอยปิดทำกำไรสถานะ Short ของผู้เล่นบางส่วน โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อนึ่ง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจเริ่มเห็นโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของฝั่งสหรัฐฯ หากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ก็อาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ และมีโอกาสที่เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังการโหวตเลือกนายกฯ เสร็จสิ้นลง ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้มากน้อยเพียงใด โดยจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงหลังการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาล หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิราว 3-4 หมื่นล้านบาท ก็มีโอกาสหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ราว +1% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็อาจหนุนโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยมากขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว และหากเงินบาทเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้นชัดเจน เราคาดว่า ฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะสั้นก็จะกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิ เพื่อสะท้อนการเพิ่มสถานะ Long THB ของผู้เล่นต่างชาติได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศของผู้เล่นบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น อย่าง ค่าเงินเยนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าต่อหรือทรงตัว sideway ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดูดี และบรรดาเจ้าหน้าที่ต่างก็ส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งต้องรอติดตาม ถ้อยแถลงของประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole วันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด อนึ่ง หลังจากที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ ทำให้เราประเมินโซนแนวต้านใหม่แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และแนวรับเงินบาทในระยะนี้ แถวโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาทต่อดอลลาร์