“บัญญัติ” แจงยิบยัน 21 ส.ค. มติปชป.งดออกเสียงโหวตนายกฯ ซัดสส.พรรคแถลงบิดเบือน เผย “จุรินทร์” เล็งหาปธ.สอบ 16 สส.แหกมติ ชี้ อันตรายชาวบ้านมองกระสันอยากร่วมรัฐบาล ยันตกเป็นเหยื่อ “เพื่อไทย” สอน สส.ใหม่อย่าตามใจเพื่อนได้
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.66 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชป. ให้สัมภาษณ์กรณีนายเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคปชป. และสส.สงขลา พาดพิงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย ว่า จำได้แน่นอนว่าสมัยนั้นตนเป็นหัวหน้าพรรค หลักใหญ่ที่ใช้ในการตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มี 2 หลักการ จะให้สส.ที่มีอยู่ในจังหวัดพูดจาและลงความเห็นกันเอง และใช้หลักคณะกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะให้รองหัวหน้าพรรคเป็นหลัก ยืนยันตนตัดสินใจไม่ผิด เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคปชป. ได้สส.สงขลายกจังหวัดเช่นกัน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนายเดชอิศม์จึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเวลานี้
นายบัญญัติ กล่าวยืนยันว่าเมื่อวันที่ 21 ส.ค. พรรคมีมติให้งดออกเสียงนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แน่นอน ซึ่งตนเป็นคนสรุปด้วยตัวเอง พูดกันเพียง 2 แนวทาง คือ จะงดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ คนเริ่มเรื่องนี้คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา โดยบอกว่าเมื่อเที่ยวนี้พรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล แนวทางมติก็มีเพียงงดออกเสียงกับไม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งถูกต้อง เพราะในทางปฏิบัติที่แล้วมา ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เขาไม่เชิญเข้าร่วมรัฐบาล แล้วอยู่ๆไปยกมือสนับสนุนนายกฯของเขา
“ผมยังแปลกใจว่าเที่ยวนี้ไปไกลแบบนั้นได้อย่างไร พรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมีอยู่สองอย่างคือ งดออกเสียง กับไม่เห็นชอบ งดออกเสียงคือปฏิเสธแบบสุภาพ แม้กระทั่งนายเดชอิศม์เองก็ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมวันที่ 21 ส.ค. อยากให้งดออกเสียง หลังจากพูดกันพอดูออกว่าอยากให้งดออกเสียงจำนวนมาก นายชวน หลีกภัย ก็ลุกขึ้นบอกว่าขอลงมติไม่เห็นชอบ เพราะสู้กับระบอบทักษิณมายาวนานเป็นพิเศษ และวันนี้ก็ไม่ทราบว่าระบอบทักษิณเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ อยากให้คนใต้สบายใจว่าจุดยืนยังมั่นคงแข็งแรง จากนั้นผมลุกขึ้นอภิปรายต่อ สุดท้ายท่านจุรินทร์(ลักษณวิศิษฏ์)ลุกขึ้นพูดว่าคงไม่ต้องลงมติมั้ง ซึ่งหมายความคงไม่ต้องนับคะแนนกัน เพราะฟังแล้วก็พอรู้ว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ใช่แปลว่าจะไม่มีมติ ซึ่งจำได้ว่านายเดชอิศม์ยังลุกขึ้นทักท้วงว่าไม่ต้องมีมติหรือ ซึ่งผมก็ได้บอกว่าสิ่งที่นายจุรินทร์พูด หมายความว่าไม่ต้องลงคะแนน เพราะฟังดูแล้วเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ถ้าเช่นกันก็มีมติให้งดออกเสียง จึงถือว่าวันนั้นมีมติพรรคแน่นอน และที่กล่าวหาว่าผมและท่านชวนฝืนมติพรรค ก็ไม่ใช่”นายบัญญัติ กล่าว
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ส่วนกระแสที่ว่านายชวนจะขับสส.ออกจากพรรคนั้น คิดว่าไม่ใช่วิสัยของนายชวน เพียงแต่ว่าอะไรไม่ถูกต้องนายชวนก็ทักท้วง เรื่องจะให้ขับกันเป็นเรื่องที่สมาชิกส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวกันเมื่อหลายวันก่อน ซึ่งเป็นปกติของพรรค วันดีคืนดีเมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งเห็นว่าสส.ไปลงคะแนนไม่น่าจะถูกต้องในความรู้สึกของเขา ก็ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้พรรคพิจารณา ซึ่งพรรคจะไม่พิจารณาคงไม่ได้ และทราบว่านายจุรินทร์กำลังเล็งหาคนมาเป็นประธานคณะกรรมการมาทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้จะทำความชัดเจนได้มากขึ้น ทั้งเรื่องพรรคมีมติหรือไม่มีมติ และใครกันแน่ที่กระทำการฝ่าฝืนมติพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้จบ ไม่คาราคาซังกันอีก
นายบัญญัติ กล่าวว่า ภายหลังลงมติโหวตนายกฯผ่านพ้นไป มีสส.ใหม่มาปรับทุกข์ว่าไม่สบายใจที่ลงมติเห็นชอบ ตนก็ได้ให้สติไปว่าอาจมีอีกหลายคนที่คิดแบบเดียวกัน และให้คำแนะนำว่าการทำการเมืองมีเพื่อนเป็นเรื่องดี แต่อย่าตามใจเพื่อนจนเสียหลัก นักการเมืองมีศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือสามารถขัดใจเพื่อนโดยเพื่อนไม่โกรธ เช่น การตัดสินใจทางการเมืองต้องคิดหลายปัจจัย นอกเหนือจากพรรคแล้ว ต้องมองว่าประชาชนคิดอย่างไร การเป็นนักการเมืองความคิดของตัวเองสำคัญ แต่ความคิดของคนอื่นสำคัญกว่า โดยเฉพาะความคิดของประชาชน กรณีที่ไปลงคะแนนกัน ตนคิดว่าอันตราย เพราะในความรู้สึกของชาวบ้านอาจมองว่าเราอยากเป็นรัฐบาลมากเหลือเกินหรือไม่ และอาจมองว่าเราตกเป็นเหยื่อของเขาแล้ว
“ผมได้ยินนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่ายังเปิดกว้างสำหรับทุกพรรคการเมือง พรรคใดอยากเข้าเป็นสมการก็ดูวันโหวตนายกฯ ซึ่งตรงนี้ผิดธรรมเนียม ไม่มีใครลงคะแนนให้นายกฯง่ายๆ เว้นแต่จะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและตกลงกันแล้วถึงตำแหน่งรัฐมนตรี”นายบัญัตติ กล่าว