กลายเป็นไวรัล…กลายเป็นเรื่องดัง…ในสื่อโซเชียลแบบข้ามวันข้ามคืนกันทีเดียว!! กับเรื่องราวของการจดสิทธิบัตรคุ้มครองสิทธิทางปัญญา เครื่องหมายการค้า “ปังชา” ของร้านอาหารชื่อดัง
ต้องยอมรับว่ากระแส “ปังชา” ในครั้งนี้ ได้ทำให้ประชาชนคนไทย มีความเข้าใจ ความถูกต้อง กับเรื่องของ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า กันอย่างถ่องแท้มากขึ้น
อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยกลายเป็นเมืองแห่งร้านอาหาร มีการประเมินกันว่า ในปี 2566 นี้ ธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 4.18-4.25 แสนล้านบาท กันทีเดียว
แม้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว ที่ขยายตัวมากถึง 12.9% และมูลค่าธุรกิจยังคงต่ำกว่าในช่วงของปี 62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด
จะด้วยฝีมือ จะด้วยความเข้าใจ ความรักที่จะทำ หรือไม่รู้จะทำอะไร ธุรกิจร้านอาหาร!! ก็กลายเป็นธุรกิจที่สำคัญของไทย ที่ทำให้หลายคน!! ร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีชื่อดังหลายคน!! ก็สามารถลืมตาอ้าปากได้ แม้เป็นเพียงร้านอาหารเล็กๆ ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้…การจะตั้งชื่อร้าน ตั้งชื่อเมนูอาหาร เชื่อเถอะ 100 เปอร์เซ็นต์ มีชื่อซ้ำๆ เมนูซ้ำๆ กันแน่นอน ต่อให้การตั้งชื่อจะ “วิศมาหรา” เพียงใด? ก็ตามทีเถอะ
ใครที่พอมีความรู้…อยากปั้นให้เมนู อยากปั้นให้ชื่อเสียงของตัวเองมีมูลค่า ก็อาศัยช่องทางกฎ ระเบียบ ของทางราชการเข้ามาสร้างชื่อเสี่ยง สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเป็นเจ้าของให้กับตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสสารพัด!!
ถามว่า? ผิดหรือไม่ ไม่ผิดเลย ในเมื่อเป็นผู้ออกแบบ เป็นผู้คิด ผู้กำหนดเอง ก็ย่อมต้องปกป้องรักษาสิทธิ ของตัวเอง แต่การดำเนินการที่ว่า…โดยไม่รู้ลึกซึ้งถึงกฎระเบียบทางราชการอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ อย่างที่กำลังเป็นที่โด่งดังอยู่ในเวลานี้
ล่าสุด “วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาชี้แจง “ยุติดราม่า” ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ปังชา” ถือเป็นคำที่ผู้ประกอบการรายอื่น ก็สามารถใช้ได้!! เพียงแค่ว่าห้ามจัดวางในลักษณะเดียวกันกับที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จดไว้ ก็เท่านั้น!!
เช่นเดียวกับเมนู “น้ำแข็งไสชาไทย” ใครๆ ก็สามารถทำขายได้เช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ที่สำคัญ…ไม่ได้มีใครเข้ามาจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรในสูตรปังชา
“วุฒิไกร” ชี้แจงไว้ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้น พบว่า ผู้ประกอบการได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้า กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไว้ 9 เครื่องหมาย และทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha”
จะมีก็เฉพาะ คำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และ รูปไก่ ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี
ทั้งนี้ทั้งนั้น…ผู้ยื่นคำขอได้นำส่งหลักฐานว่า มีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงรับจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha ซึ่งเป็นไปตามหลักของกฎหมาย
ฉะนั้น!! ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายนี้ตามองค์ประกอบของคำและภาพ ตามที่ได้รับจดทะเบียนไว้
ที่สำคัญ!!ที่ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดเจน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ชัดๆ ว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นจดเครื่องหมายการค้านี้ “ไม่สามารถ” ดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คือคำว่า “Pang Cha” มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียว
ขอย้ำว่า… บุคคลอื่นยังสามารถนำคำนี้ไปใช้ได้!! แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพและคำในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าได้
ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการรายนี้มีการจดทะเบียนภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้แล้ว ดังนั้นผู้อื่นก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เช่นกัน
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุไว้ด้วยว่า ปัจจุบันนี้ บรรดาผู้ประกอบการไทยต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากันมาก ในแต่ละปีมีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากับกรมฯ มากกว่า 60,000 คำขอ ทีเดียว
เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถนำทรัพย์สิน ทางปัญญาไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและถูกวิธี
ทั้งหลายทั้งปวง น่าจะทำให้ทุกฝ่ายมาถึง “บางอ้อ” และจบ “ดราม่า ปังชา” ที่ถือว่าเป็นบทเรียนที่ทำให้ผู้ประกออบการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของสิทธิบัตรกันมากขึ้น!! เพราะบางทีการกระทำเพียงแค่ “ขอโทษ” อาจไม่คุ้มค่าก็ได้!!
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)