โปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา 1” เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องบอก…ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามโผ ที่สื่อหลายสำนักนำเสนอก่อนหน้านี้ แต่ที่ทำให้เอาหลายคนตั้งคำถามคือ ทำไมชื่อ “ไผ่ ลิกค์” ซึ่งอยู่ในโควต้าของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ “พิชิต ชื่นบาน” ที่อยู่ในสัดส่วนของ พรรคเพื่อไทย(พท.) หลุดหายไป
ขณะที่การที่พรรค พท.ว่างเว้น จากการเป็นรัฐบาลมาเกือบ 9 ปีเต็ม ทำให้การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีจะเป็น โควต้าของสมาชิกพรรค ไม่ได้ดึง นักวิชาการ และ คนนอก ที่มีความรู้เฉพาะด้าน เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร รายชื่อที่ประกาศออกมาเลย “ไม่ว้าว” เท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถ ให้ประชาชนได้เห็นผลงานโดยเร็ว
ยิ่งมีบรรดาแฟนคลับจำนวนไม่น้อย ผิดหวังกับกรณี “พรรค พท.” ตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” จับมือกับการตั้ง “พรรค 2 ลุง” ไม่ยอมร่วมมือกับ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ในการจัดตั้งรัฐบาล ต่างก็รอเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรค พท. จึงเปรียบเสมือนเป็น ระเบิดเวลา ที่กดดันฝ่ายบริหารพอสมควร ถ้าล้มเหลวในการทำงาน หนทางที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คงยากพอสมควร
ในส่วนของ “พิชิต ชื่นบาน” ในฐานะที่ปรึกษาพรรค พท. ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีโปรดเกล้าฯครม.ถึงกระแสและข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติของตัวเอง ในการดำรงตำแหน่งรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า คุณสมบัติของตนครบถ้วนถูกต้องทุกประการ ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ประเทศชาติและรัฐบาลเดินหน้า ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงขอไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณผู้ใหญ่ในพรรค พท. ที่ให้โอกาส และเห็นความสำคัญของตนมาโดยตลอด
ก่อนหน้านั้น หลังมีชื่อ “พิชิต” ติดโผเป็นรมต.สำนักนายกฯ ดูแลงานด้านกฎหมาย ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม อันเนื่องจาก ความประพฤติแต่หนหลัง มาจากมูลเหตุ “หิ้วถุงขนม” ที่มีเงิน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนถูกศาลฎีกาฯมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล
นอกจากนี้ สภาทนายความ มีมติลงโทษ ให้ลบชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ดังนั้นเมื่อมีชื่อเป็นว่าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯ จึงมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ อาจขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรธน. มาตรา 160 (4), (5) … คือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แต่ “พิชิต” ก็ยังออกมายืนยันว่า ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น เขาไม่เคยทำผิดคดีอาญา ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม เรื่องถุงขนมนั้น เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อปี 2552 ว่า “ร่วมกันใช้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ” แต่พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด แต่ที่เขาถูกสั่งจำคุก 6 เดือนนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล แต่เป็นคำสั่งศาลฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่ความผิดให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ
และหลังจากนั้น 2 ปี ตัวเขายังไปสมัครรับเลือกตั้ง ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพท.ในปี 54-56 และในปี 62 ก็เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แต่พรรคถูกยุบไปเสียก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น จากปี 52 มาถึงวันนี้ เขาพ้นโทษมาแล้ว 10 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 ให้โอกาสเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีได้…ดังนั้นเชื่อว่า ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามใดใดทั้งสิ้น
ส่วนกรณี “ไผ่ ลิกต์” สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร.นััน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาให้ความเห็นกรณีไม่มีชื่อปรากฏเป็นรมช.พาณิชย์ ว่า เนื่องจาก นายไผ่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องคุณสมบัติ จึงขอถอนตัว เพื่อให้การแต่งตั้งครม. บริหารราชการแผ่นดินสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ยืนยันว่า สัดส่วนรัฐมนตรีของพรรค พปชร.ยังคงอยู่ และจะยังไม่เสนอแต่งตั้งใครเข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งเมื่อพรรค พปชร. ตรวจสอบชัดเจนแล้ว ยังมีสิทธิเสนอแต่งตั้งใหม่ได้ โดยปฏิเสธที่จะระบุว่า การขอเสนอแต่งตั้งจะเป็นไปพร้อมกับการปรับครม. หรือขอแต่งตั้งเพิ่มเติม
ส่วนไทม์ไลน์ของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” นั้น ได้นำครม. เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นจะเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในวันที่ 6 ก.ย.เพื่อเตรียมความพร้อมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยจะเป็นวันที่ 11 ก.ย. ก่อนจะเริ่มประชุม ครม.ครั้งแรก จากนั้น “เศรษฐา” มีคิวบินลัดฟ้าประเดิมเวทีระดับชาติเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-26 ก.ย.ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ด้าน”นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา”ประธานรัฐสภา กล่าวถึงวันแถลงนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1 “ ต่อรัฐสภา ว่า ทราบจากทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่านางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการครม.แจ้งว่าอยากได้วันแถลงนโยบายรัฐบาลเป็นวันที่ 11 ก.ย. นี้ หากกำหนดเป็นวันที่ 8 ก.ย. อาจจะไม่พร้อม เพราะถ้าจะประชุมวันดังกล่าวต้องส่งเอกสารนโยบายรัฐบาลมายังสภาตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. เนื่องจากสภาต้องออกหนังสือนัดสมาชิกล่วงหน้า 5 วัน ทั้งนี้จะนัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน(วิป 3) ฝ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 7 ก.ย.นี้เวลา 14.00 น.โดยประมาณ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพ “เศรษฐา” พร้อมด้วย ทีมงาน ทะยอยลงไปพบตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปใช้ หากได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการเดินทางไปพบกับ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จ.ภูเก็ตและพังงา เพื่อหารือกับผู้ประกอบการภายในจังหวัด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องวีซ่านักท่องเที่ยว และการสร้างสนามบินเพิ่มเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และพบปะผู้บริหารสายการบิน 8 แห่ง ที่พรรคเพื่อไทย รับฟังความคิดเห็น และหารือแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น การพบปะบรรดา ผู้ประกอบการด้านการประมง และ บรรดาผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา “เศรษฐา” ได้หารือกับ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากนั้นนายกฯคนที่ 30 ได้คำตอบ สื่อมวลชนกรณี ลดค่าไฟและน้ำมัน หลังการประชุม ครม.นัดแรกตามที่เคยหาเสียงว่า “ทันทีครับทันที ประกาศทันทีและขอดูขั้นตอนนิดหนึ่ง”
ซึ่งคงต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลประกาศไว้สามารถทำได้จริง ยิ่งปัญหาค่าไฟถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน มีเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชนให้ภาครัฐปรับโครงสร้างราคาค่าไฟใหม่ เพราะถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า กระทรวงพลังงานได้แจกแจงสูตรลดค่าไฟมากสุดได้อีกหน่วยละ 35 สตางค์
ก็คงต้องรอดูว่า ภายหลัง “เศรษฐา” ได้เข้ามามีอำนาจ ในฐานผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการ จะเร่งสร้างผลงานและผลักดันสิ่งต่างๆที่ได้เคยหาเสียงไว้ ให้สังคมได้เห็นเร็วมากขนาดไหน
นอกจากนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “เศรษฐา” ได้สร้างเซอรไพรส์ โดยนำ “ปานปรีย์ พิทธานุกร” รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ร่วมรับประทานอาหารเที่ยง ที่โรงแรมโรสวูด ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ กับ “พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี” ว่าที่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) “พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์” ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) “พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม” ว่าที่ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ขาดเพียง “พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล” ว่าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ โดยจะเดินทางกลับในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านความมั่นคงและรับทราบปัญหาต่างๆ ในการทำงานของกองทัพ
ทั้งนี้ บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างชื่นมื่นและเป็นกันเอง ซึ่งเริ่มรับประทานอาหารตั้งแต่เวลา 11.30-13.00 น. โดยนายกฯแนะนำตัวเอง นายปานปรีย์ และนายสุทินให้ “ว่าที่ผบ.เหล่าทัพ” แต่ละคนให้ได้รู้จัก อย่างไรก็ตาม การพูดคุยในวงรับประทานอาหารกลางวัน ยังไม่ได้ลงลึกรายละเอียดเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของแต่ละเหล่าทัพ เพียงแต่เป็นการพูดคุยเรื่องนโยบายกรอบกว้างๆ เรื่องนโยบายการทำงานเพื่อไทย ที่จะทำร่วมกับกองทัพเท่านั้น
ด้าน “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ได้ออกมาเปิดเผยถึงการพูดคุยกับ ว่าที่ผบ.เหล่าทัพ ว่า ได้พูดคุยถึงสถานการณ์ของประเทศ สอบถามปัญหาและแลกเปลี่ยนความต้องการของแต่ละฝ่าย ซึ่งทางฝ่ายการเมืองระบุว่าอยากผลักดันนโยบายเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ ร่วมถึงสอบถามความต้องการของกองทัพ ว่ามีความต้องการอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องใดบ้าง และมีความกังวลหรืออุปสรรคอะไรเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งทางกองทัพมีความเห็นไปทิศทางเดียวกับรัฐบาล ไม่ขัดข้องอะไรและยินดีปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนจะทำได้ช้าหรือเร็ว ก็จะสะท้อนให้รัฐบาลทราบเพื่อให้รัฐบาลช่วย
เมื่อถามว่า สิ่งที่กล่าวมาจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้เมื่อไหร่ “สุทิน” กล่าวว่า จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในทันที ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นรูปแบบสมัครใจ ในเดือนเม.ย.2567 ที่จะมีการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง จะเห็นอัตราเกณฑ์ทหารที่ลดลงจากเดิมอย่างแน่นอน และจะค่อยๆ หมดไปจนเหลือเพียงการเข้ากองทัพแบบสมัครใจ รวมถึงการปรับลดขนาดกองทัพ ที่สังคมมองว่ากองทัพมีนายพลมากเกินไป เท่าที่พูดคุยกองทัพ เขามีแผนปรับลดในส่วนนี้ภายในปี 70 หรือในรัฐบาลนี้กองทัพจะกระชับลง นายพลจะหายไปจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ส่วนจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์นั้นกองทัพกำลังทำตัวเลขมาให้ดู และเท่าที่ได้พูดคุยกันเมื่อนายกฯได้ฟังความเห็นของกองทัพแล้วก็มีความสบายใจ
ต้องยอมรับว่า ในช่วงแรกที่ปรากฎชื่อ “สุทิน” เข้ามาเป็นรมว.กลาโหม ก็ถูกวิจารณ์มากพอสมควร นอกจากจะเป็นพลเรือนแล้ว ในอดีตทีผ่านมา หัวหน้ารัฐบาลจะนั่งควบรมว.กลาโหม หรือไม่ก็จะนำอดีตนายทหาร ที่ได้รับการยอมรับ มาทำหน้าที้ในตำแหน่งนี้ ดังนั้นการนัดพบปะครั้งนี้ของ “เศรษฐา” กับทีมงาน คงต้องการทำความเข้าใจกับกองทัพ เพราะที่ผ่านมา “พรรค พท.” เปรียบเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทหาร ถูกปฎิวัติมามาสองครั้ง ดังนั้นความพยายายามลดช่องว่าง หรือไม่สร้างหวาดระแวงให้เกิดขึ้น เพราะกองทัพถือเป็นกลไลสำคัญในการทำงานรวมกับรัฐบาล
จากนี้ไป ต้องจับตามองการทำงานของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” จะฝ่าคลื่นลมมรสุมไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ แม้ในช่วงแรกของการรับตำแหน่งใหม่ๆ “เศรษฐา” จะทำการบ้านมาดีพอสมควร แต่ด้วยความเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค มี 314 เสียง ย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ยาก แม้จะอ้างว่าเป็น “รัฐบาลพิเศษ” ก็ตาม
โดยเฉพาะคำแถลงของ “เศรษฐา” ภายหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ยืนยันว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน และทุกท่านที่มาในวันนี้มาที่นี่ มาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจ เพราะปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
……………………………………..
คอลัมน์ :ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”