ขึ้นชื่อว่า…หนี้ !! เชื่อเถอะ ไม่มีใครอยากย่างกรายเข้าไปใกล้!! แถมยังกลายเป็น “ของแสลง” ที่อยากหลีกหนีให้ไกลด้วยซ้ำ
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ!! นั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด หรือแปลกแหวกแนวอะไรเลย
แต่จากข้อมูลล่าสุด กลับพบว่า…หนี้เสียของจริงได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 9.8 แสนล้านบาท เพราะบรรดา คนรุ่นเจนวาย หรือที่มีอายุตั้งแต่ 23-28 ปีนั้น ต่างก่อหนี้ตามกระแส แบบ “ของมันต้องมี”
ขณะเดียวกันในส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ
ด้วยเหตุนี้ “ปัญหาหนี้สิน” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่เข้ามาท้าทายฝีมือของรัฐบาล “เศรษฐา 1” เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อปากท้องคนไทยไม่น้อยทีเดียว
ทั้งนี้ข้อมูลจากแบงก์ชาติ ได้ระบุถึงข้อเท็จจริงของการเป็นหนี้ไว้ถึง 8 กรณี เริ่มจากการเป็นหนี้เร็ว โดย คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25-29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย
นอกจากนี้ยังเป็น หนี้เกินตัว โดยเกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิต/หนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน ทีเดียว และยังมีวงเงินรวมสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้
ตามมาด้วยการ เป็นหนี้เพราะไม่รู้ ซึ่ง 4 ใน 5 ของปัญหาตอนสถาบันการเงินเสนอสินเชื่อให้ลูกค้า คือ ลูกหนี้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันยังเป็นหนี้เพราะความจำเป็น โดยกว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากรายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งเงินไม่พอจ่ายหนี้
ไม่เพียงเท่านี้ยังพบว่า มีการ เป็นหนี้นาน โดยมากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน และ ลูกหนี้เกือบ 40% มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ ตามามาด้วยเรื่องของการเป็นหนี้เสีย ซึ่งมีลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย ขณะที่อีกเกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการ เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น ก็เป็นอีกหนึ่งข้อเท็จจริงเช่นกัน โดยเกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง ขณะที่ 1 ใน 3 ของลูกหนี้ ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว แต่ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ เรื่องของ เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งจากการสำรวจของแบงก์ชาติพบว่า 42% ของครัวเรือนตัวอย่างมีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้หลายๆ หน่วยงานได้พูดตรงกัน ในเรื่องของ หนี้รถยนต์ ที่กำลังเป็นหนี้ที่น่าห่วงมากที่สุด เพราะหนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง
โดยตัวเลขหนี้สินเชื่อรถยนต์ที่ค้างชำระตั้งแต่ 30 วันแต่ไม่ถึง 90 วัน หรือสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ ที่เรียกกันว่าหนี้เอสเอ็ม ในไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.9% ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้า มีเพียง 13.7%
ไม่ใช่แค่นี้!! หนี้เน่าของสินเชื่อรถยนต์ยังมีมากถึง 23,000 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นในรอบ 3 ปีครึ่ง หรือ 14 ไตรมาส
ขณะที่ สภาพัฒน์ บอกว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ จำเป็นอย่างที่สุด ที่ต้องหันมาปรับโครงสร้างหนี้ และ
ไม่สมควรอย่างยิ่ง ที่จะให้เกิดการพักหนี้ เพราะไม่เช่นนั้นวัฒนธรรมการจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้ ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไปเรื่อยๆ
ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติออกมาปรับคำนิยามของหนี้ครัวเรือนใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มุลหนี้เพิ่มขึ้นอีก 7 แสนล้านบาท จนทะลุไปอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาทกันทีเดียว
สำหรับข้อมูลหนี้ที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ใช่ว่าจะเป็นจริงเสียทั้งหมด เพราะมีหนี้อีกมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
ว่ากันว่า… มูลหนี้ที่เป็นหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์นั้น น้อยกว่า สัดส่วนหนี้ที่มาจากสินเชื่ออื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ถึง 3 เท่ากันทีเดียว
ปัญหาหนี้เหล่านี้ แม้ทั้งแบงก์ชาติและแบงก์เจ้าหนี้ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันดูแล้วก็ตาม แต่เชื่อเถอะตราบใดที่รายได้ไม่มี รายได้ไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอรายจ่าย อย่างไรซะ!! ก็หนีไม่พ้นเป็นหนี้แน่นอน
ดังนั้นจากนี้ไป…. คงต้องมารอดูกันว่า “นายกฯนิด” จะสานฝันแก้ปัญหาให้คนไทยหลุดพ้นจากความเป็นหนี้ได้อย่างไรต่อไป
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)