“กระทรวงมหาดไทย” ยุคนี้ ถูกจับตามองอย่างมาก หลัง “พรรคภูมิใจไทย” เข้ายึดคุม ต่อรองเอามาจาก พรรคเพื่อไทย ได้ และส่งสามแกนนำพรรค มานั่งเป็นรัฐมนตรี คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค นั่ง “มท.1-รมว.มหาดไทย”-“ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย-“ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย
โดยมี “เกรียง กัลป์ตินันท์” หนึ่งเดียวจากเพื่อไทย มาเป็นรมช.มหาดไทย โดยช่วงเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา “เกรียง” ในฐานะรับผิดชอบพื้นที่อีสานใต้ “บุรีรัมย์-ศรีษะเกษ-สุรินทร์-อุบลราชธานี” ก็ขับเคี่ยวสู้กับ “ภูมิใจไทย-เนวิน ชิดชอบ” อย่างหนัก
จึงทำให้ถูกจับตามองกันอย่างมาก ว่าการทำงานของ 3 รัฐมนตรีจากภูมิใจไทย กับ 1 รัฐมนตรีช่วยฯจากเพื่อไทย จะประสานงานกันได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะกินเกาเหลากันตลอด
จุดเริ่มแรก ก็คงต้องดูที่การแบ่งงานที่ คาดว่าคงเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ หลังการแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้น วันที่ 12 ก.ย.และประชุมครม.นัดแรกเสร็จ 13 ก.ย. ก็คาดว่าวันรุ่งขึ้น 14 ก.ย. “อนุทิน-มท.1” ก็คงเซ็นแบ่งงานความรับผิดชอบของรัฐมนตรีมหาดไทยทั้ง 4 คน ว่าใครได้ดูแลกรมอะไร และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยอะไรกันบ้าง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “เกรียง-เพื่อไทย”ต้องการรับผิดชอบงาน “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-กรมที่ดิน ” โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มีงบประมาณมากที่สุดของกระทรวงมหาดไทย
ด้วยเหตุผลว่าแม้ “เกรียง” จะเป็นรมช.มหาดไทย แต่ก็มาจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจึงมีอำนาจต่อรองได้ ทำให้ จึงเป็น ศึกวัดใจ “อนุทิน-ชาดา-ทรงศักดิ์” แล้วว่า จะยอมให้ตามที่ “เกรียง-เพื่อไทย” ส่งสัญญาณมาหรือไม่
ซึ่งหากไม่ได้ตามที่ส่งซิกไป ก็คงทำให้การทำงานในกระทรวงมหาดไทย ของ 3 รัฐมนตรีภูมิใจไทย กับ 1 รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยจากเพื่อไทย คงเริ่มต้นได้แบบไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
และคาดหมายกันว่า งานแรกๆ ของ “อนุทิน” และ “3 รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย” ที่จะต้องเร่งทำทันที หลังเข้าทำงานที่มหาดไทยเต็มตัว ก็คือ การทำโผบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของมหาดไทย ทั้ง อธิบดี-รองปลัดกระทรวง-ผู้ว่าฯ-ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.
โดยมีรายงานว่า หากโผมหาดไทยรอบนี้ ตกลงกันได้เร็ว ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ คือ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดมหาดไทยสายสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็คาดว่าน่าจะเอาโผแต่งตั้งโยกย้ายมหาดไทย เข้าที่ประชุมครม.ได้ในการประชุมครม.วันที่ 19 ก.ย. แต่หากไม่ทัน ก็อาจเป็นอังคารถัดไป 26 ก.ย.
หลังเริ่มมีข่าวว่า ตำแหน่งหลักๆ ในกระทรวงมหาดไทย บางรายชื่อเริ่มลงตัวแล้ว โดยเฉพาะการแต่งตั้งบิ๊กมหาดไทยมาแทนตำแหน่งหลักที่เกษียณปีนี้ ทั้ง อธิบดีกรมการปกครอง-อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึง ผู้ว่าฯในจังหวัดสำคัญๆ ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรครัฐบาล รอบนี้โผมหาดไทย ดูแล้วน่าจะมีการทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายร่วมๆ 40 เก้าอี้ เพราะในระดับ 10 ปีนี้ก็มีเกษียณแล้ว 24 คน และไหนจะต้องโยกย้ายสลับปรับเปลี่ยนอีก
ซึ่งแม้ “อนุทิน” จะเป็นมท.1 แต่เจ้าตัวก็คงต้องฟังคนจากพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ก่อนที่จะเคาะรายชื่อสำคัญๆ โดยเฉพาะผู้ว่าฯในจังหวัดฐานเสียงหลักของเพื่อไทย เพื่อรอดูว่าเพื่อไทยจะเอายังไงด้วย ก่อนเอาโผเข้าที่ประชุมครม.
สำหรับปีนี้ มีบิ๊กมหาดไทยที่เกษียณก็เช่น “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อธิบดีกรมการปกครอง-“บุญธรรม เลิศสุขีเกษม” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ส่วนกลุ่มผู้ว่าราชการจังหวัด มีผู้ว่าฯ ใน17 จังหวัดเกษียณ อาทิ จุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร-ชนาส ชัชวาลวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ-ชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์-ณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร-ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา-ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต-พยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร-รณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี-รังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง-วิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี-วิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร-สมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์-สำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ “อนุทิน-ชาดา-ทรงศักดิ์-เกรียง” จะเริ่มต้นทำงานในมหาดไทยอย่างเป็นทางการ ก็ปรากฏว่า ที่เรียกเสียงฮือฮา ในตอนนี้ ก็คือ หลังเกิดกรณีสะเทือนขวัญท้าทายกระบวนการยุติธรรมไทย กับกรณี “ปวีณ จันทร์คล้าย” หรือ “กำนันนก” และ ลูกน้อง ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น จากกรณีคนร้ายก่อเหตุยิงตำรวจทางหลวงเสียชีวิตในงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านกำนันนก พื้นที่จังหวัดนครปฐม
จนเกิดเสียงวิจารณ์อื้ออึงถึงเรื่อง “ผู้มีอิทธิพล-มาเฟีย” ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เชื่อมโยงถึงเครือข่าย คนมีสี-นักการเมืองท้องถิ่น-เจ้าหน้าที่รัฐ
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ทาง “จังหวัด-ผวจ.” จะต้องมีข้อมูลเบื้องต้นอยู่แล้ว คนจึงมองกันว่า หากทั้ง กระทรวงมหาดไทย-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาจริงเอาจัง ก็น่าจะ ช่วยแก้ปัญหาและทะลายเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่ทำธุรกิจสีเทาได้
เสียงเรียกร้องดังแบบนี้ “สิงห์หนู-อนุทิน มท.1” ก็รับลูกทันควัน ด้วยการสั่งให้มหาดไทยและจังหวัดต่างๆ ทำบัญชีผู้มีอิทธิพล โดยให้ “ชาดา” รมช.มหาดไทย เข้ามาร่วมรับผิดชอบการแก้ปัญหาดังกล่าว
“เป็นสิ่งที่เราจะต้องคัดกรองคนที่จะมาดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ต้องมีคุณธรรม ต้องไม่ใช้อิทธิพล ปกครองดูแลชาวบ้าน เพราะถ้าเป็นผู้ปกครองที่มีอิทธิพลมาดูแลชาวบ้านก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนที่จังหวัดนครปฐมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงในบ้านกำนันนก ไม่พอใจก็ข่มขู่ นี่ขนาดลูกน้องนะ แล้วถ้าลูกพี่จะขนาดไหน ลูกน้องมันไม่มี ไม่ทำตามลูกพี่หรอก ตัวอย่างที่เลว ๆ แบบนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกระทรวงมหาดไทย โดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ต้องไปขึ้นทะเบียน ไปคัดกรองคนแบบนี้อยู่ในสังคม อยู่ในบ้านเมืองไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน เอากันถึงชีวิตกันเลยแบบนี้ไม่ได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป” รมว.มหาดไทยระบุ
เท่านั้นเอง ก็เรียกเสียงฮือฮาตามมาทันทีที่ “อนุทิน-มท.1“ ให้ดาบ กับ “ชาดา-รมช.มท.” จากพรรคภูมิใจไทย ไปจัดการเรื่องนี้
ซึ่งก็ไม่แน่ “ชาดา” อาจทำงานนี้ได้ดีก็ได้ เพราะด้วยสไตล์การเล่นการเมืองแบบ บ้านใหญ่-ใจถึงพึ่งได้ ทำให้มีเครือข่ายกว้างขวางในหลายจังหวัด จึงทำให้ง่ายต่อการหาข้อมูลของผู้กว้างขวางแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งหาก ทำงานนี้ได้ดี ก็จะเป็นการพิสูจน์ตัวเองได้เป็นอย่างดี
ของแบบนี้ คงต้องให้ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงาน?
…………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”