วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS‘รมว.สธ.’ย้ำต้องใช้‘กัญชา’เพื่อการแพทย์-สุขภาพ ร้านยังเปิดขายได้ถ้าไม่กระทบมิติสังคม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘รมว.สธ.’ย้ำต้องใช้‘กัญชา’เพื่อการแพทย์-สุขภาพ ร้านยังเปิดขายได้ถ้าไม่กระทบมิติสังคม

“รมว.สธ.” ย้ำต้องใช้ “กัญชา” เพื่อการแพทย์-สุขภาพ แจง ปรับกม.กัญชาไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน ชี้ร้านกัญชายังเปิดธุรกิจได้หากไม่กระทบมิติสุขภาพ-สังคม

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 เวลา 12.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายควิกวิน คือภาพรวมของเศรษฐกิจสุขภาพ หมายถึงการนำสุขภาพไปสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งมันมีหลายองค์ประกอบทาง Medical Hub และกัญชาอาจจะอยู่ในเรื่องของ Service Hub และ Wellness Hub คือเรื่องการให้บริการทางการแพทย์

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องกัญชาในมิติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เรารับนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ และสุขภาพ มาจากนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเราจะจัดทำกฎหมายให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องมีการปรึกษาหารือกับพรรค ภท. เพราะเราเป็นรัฐบาลร่วมกัน

เมื่อถามถึงการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ 15 ต้นเป็นอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การอนุญาตให้ปลูกต้นกัญชา 15 ต้นอยู่ในกฎหมายเดิม จึงต้องมีการพิจารณาว่า การปลูกเพื่อการแพทย์และสุขภาพ ต้องปลูกอย่างไร เพื่อให้ได้มาตรฐาน ถ้าปลูกแล้วไม่สามารถไปใช้ทางอุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพได้ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนที่ทำกิจกรรมเรื่องนี้ขาดโอกาส

เมื่อถามว่า หลังจากนี้เพื่อสันทนาการจะไม่สามารถทำได้แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราต้องเน้นกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งจะต้องดูแลควบคุมอย่างไร ใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องของการกระทบสุขภาพ โดยกัญชามันมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นับว่า เป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง แต่กฎหมายใหม่กำหนดว่า ต้องเป็นสารสกัดกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2 ขึ้นไปถึงจะเป็นสารเสพติด ดังนั้นต้องไปดูบทบัญญัติว่า จะมีการควบคุมให้กัญชาอยู่ในการแพทย์ และสุขภาพอย่างไร

เมื่อถามว่า จะทำให้ร้านกัญชาที่เปิดกันอย่างเสรีตอนนี้ต้องยุติกิจการหรือไม่นั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า มี 2 มิติที่ต้องดู ถ้ากิจการที่เขาทำไม่กระทบต่อสุขภาพ หรือไม่มีผลต่อสภาวะสุขภาพโดยรวม และมิติสุขภาพทางสังคม ก็ควรที่จะมีกฎหมายเข้าไปควบคุม โดยจะมีการปูพรมตรวจค้นหรือไม่นั้น อยู่ที่ตัวกฎหมายว่าให้อำนาจไว้อย่างไร อย่าไปคิดว่าเป็นการปูพรม หรือไม่ปูพรม เพราะเราต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย และต้องได้ประโยชน์ในพื้นฐานที่ไม่ทำลายสุขภาพ และไม่กระทบกับทุกคนในสังคม

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การพิจารณากฎหมายกัญชาสามารถทำควบคู่กันได้ทั้งพ.ร.บ. และประกาศกระทรวง แต่ พ.ร.บ.นั้นต้องยกร่างผ่านสภาฯ แต่ประกาศกระทรวงจะอ้างอิงตามกฎหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจไว้ ภายใต้การเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขต้องเห็นพ้องต้องกันว่า อะไรจะเป็นยาเสพติดสำหรับออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่ใช่แค่กัญชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่ได้มีการคุยว่า จะคืนส่วนไหนเป็นยาเสพติด โดยจะนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อที่จะประกาศไปแล้วไม่กระทบ หรือทำให้คนสูญเสียโอกาส แต่ยืนยันว่า ตนยึดหลักเพื่อการแพทย์ และสุขภาพเป็นหลัก

เมื่อถามว่า การใช้กัญชาผ่านการสูบจะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สารเสพติดเมื่อเข้าสู่ร่างกายมากกว่ากำหนด ยกตัวอย่าง บุหรี่ ที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ แม้จะเป็นสารเสพติด แต่ก็มีการกำหนดไว้ว่า ปริมาณสารในบุหรี่ต้องจำนวนเท่าไหร่ถึงจะไม่กระทบต่อสุขภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การปรับปรุงกฎหมายกัญชาทั้ง พ.ร.บ.กัญชาฯ และประกาศกระทรวง ไม่ได้อยู่ในนโยบายควิกวิน เพราะทำไม่ได้ ต้องใช้เวลา เนื่องจาก นโยบายควิกวินเป็นแผนเร่งรัดปฏิบัติการให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น การฉีดมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ใน 100 วัน เราทำได้ แต่เรื่องกัญชามีเรื่องต้องพิจารณาเยอะในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะหากประกาศไปบนพื้นฐานที่ไม่รอบคอบ มันจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img