วันพุธ, มกราคม 15, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“กวาดขยะใต้พรม”สร้างความเชื่อมั่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กวาดขยะใต้พรม”สร้างความเชื่อมั่น

ระหว่างนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี กำลังเดินสายพูดคุย โชว์วิสัยทัศน์ พร้อมทำทุกวิถีทาง เพื่อจะ เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ พร้อมเตรียมเปิดประเทศรับนักลงทุนจากทั่วโลก เวทีแรกเปิดตัวในการไปประชุม UNGA ที่สหรัฐอเมริกา ได้ชักชวนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไมโครซอฟท์ เทสล่า กูเกิ้ล คาดว่ารายละ 5 พันเหรียญสหรัฐ เข้ามาลงทุนในเมืองไทย

งานนี้ไม่ใช่คุยแล้วจบแค่นั้น แต่จะมีการคุยกันต่อเนื่อง จะหารือกันอีกครั้งในการประชุมเอเปก ที่ซานฟรานซีสโก สหรัฐอเมริกา เดือนพ.ย.นี้ นี่เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกประเทศรู้ว่า เราเปิดประตูบ้านแล้ว และทราบมาว่ามีแผนจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น เพื่อพูดคุยกับนักลงทุนให้ย้ายฐานมาเมืองไทย ซึ่ง “เศรษฐา” ถือว่าญี่ปุ่นมีบุญคุณกับไทยอย่างมาก

แม้ช่วงนี้ รถยนต์สันดาป เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น จะเพลี่ยงพล้ำรถอีวี.แต่ก็ยังมีความจำเป็น เพราะมีอุตสาหกรรมคนไทยเกี่ยวเนื่องมากมาย รัฐบาลก็ยังต้องดูแลเช่นกัน น่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนญี่ปุ่นได้

นอกจากนี้ไปรัฐบาลต้องเตรียม แพคเกจการลงทุน เช่น เรื่องของวีซ่า สำหรับคนที่จะเข้ามาทำงาน ทุกวันนี้เรามีโรงเรียนอินเตอร์ มีโรงพยาบาลที่มีคุณภาพไว้รองรับพร้อมแล้ว ประเทศไทยโชคดีมียุทธศาสตร์ที่ดี เป็นประเทศน่าลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม อินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดในโลก แต่เรื่องน้ำต้องไม่ขาดแคลน เพราะอุตสาหกรรมไฮเทค จำเป็นต้องใช้น้ำ

ค่อนข้างมั่นใจว่า เรามาถูกทาง เพราะเศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งภาคเกษตรอย่างเดียวไม่ได้ เศรษฐกิจจะเข้มแข็งต้องมาจากการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ไทยเราห่างหายจากการลงทุนจากต่างประเทศมานาน ทุกวันนี้ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยมีเงินลงทุนไหลเข้าโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องเหบือเพียง 1.83% ต่อจีดีพี. จาก 3.23% ต่อจีดีพีในปี 2000

แต่รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึง นั่นคือ รัฐบาลมีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในบ้านเรา และไม่ได้บอกว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างและจะแก้ไขอย่างไร อย่าลืมว่าทุกวันนี้เรามี “คู่แข่ง” มากมาย เพราะทุกประเทศล้วนต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ปัญหาอุปสรรคการลงทุนนั้น กวักมือรออยู่เพียบ เพราะ 10 ปีมานี้เรา ซุกขยะไว้ใต้พรม เต็มไปหมด

ตั้งแต่กฏหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุน หากนับกฎหมายประเทศไทย มีพระราชบัญญัติอยู่ 900 ฉบับ คสช.อีก 100 ฉบับ รวมกฏกระทรวง พระราชกฤษฎีกา อีก 20,000 ฉบับ ถ้ารวมข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ ที่บังคับใช้กับประชาชน อีก 100,000 ฉบับ ซึ่งกฤษฏีกาบอกว่า เคยรวมได้ราว 100,500 ฉบับ แต่น่าจะมากกว่านั้น

มีตัวอย่างหลายประเทศที่แก้กฏระเบียบ ปฏิรูปกฏหมาย ลดขั้นตอนเอื้อนักลงทุนประสบความสําเร็จ อย่างกรณีเกาหลีใต้ ยกเลิกกฏหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย จาก 11,000 ฉบับ เลิกไป 5,000 ฉบับ อีก 2,800 ฉบับ ก็พัฒนาทำให้ง่ายขึ้น เวียดนามประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง ก็มาจากการปฏิรูปกฏหมายในประเทศตั้งแต่ปี 2015 ทำให้กฏหมายทันสมัย โปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง

ต้องเข้าใจว่า กฏหมายที่ล้าหลังเป็นภาระต้นทุน กรณีสหรัฐอเมริกา บอกว่าต้นทุนอยู่ที่ 13% ของจีดีพี แต่ของไทยน่าจะอยู่ที่ 20 กว่า% ของจีดีพี ไม่มีกฏหมายเลยก็ไม่ได้ แต่ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยทันสถานการณ์

ต้องมีการปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคในการลงทุน ระบบการทำงานที่ล่าช้า มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใบอนุญาตในเมืองไทย กพร.รวบรวมได้มี 1,544 ชนิด ขณะที่ โออีซีดี.บอกว่า ไม่ควรเกิน 300 ชนิด อีกทั้งการให้ข้าราชการออกใบอนุญาต ยิ่งมากยิ่งเปิดโอกาสให้มีการทุจริต เรียก เก็บเงินใต้โต๊ะ สูงตามไปด้วย

ในอดีตเคยมีนักลงทุนหลายรายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ.แล้วหนีไปลงทุนที่อื่นแทน เพราะเจอเรียกเงินใต้โต๊ะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน ไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น ยังรวมถึงนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลเรียกค่าคุ้มครอง มีรัฐบาลบางประเทศมีนโยบายห้ามนักลงทุนของเขาเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีการทุจริต คอรัปชั่นเลยทีเดียว อันนี้เป็นอุปสรรคอันหนึ่ง

นอกจากนี้มี ปัญหาแรงงาน มีคุณภาพพอหรือไม่ ยิ่งหากเราจะเน้นเปิดรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ต้องมีวิศวกรเพียงพอ ขนาดของตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่พอหรือไม่ ตลาดต่างประเทศเป็นอย่างไร จะเห็นว่าไทยกับเวียดนามมีการทำเอฟทีเอ.ใกล้เคียงกันแต่ไทยคลุม 18 ประเทศ ในขณะที่เวียดนามครอบคลุม 53 ประเทศ

ดูเหมือนรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก โดยรัฐบาลจะเน้นทำเอฟทีเอ.มากขึ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนเดินหน้าทำเอฟทีเอ.กับคู่ค้าใหม่อีกหลายราย เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ เสถียรภาพทางการเมือง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไร้เสถียรภาพ เพราะเป็นรัฐบาลผสม การเมืองมีความเปราะบาง มีประท้วง มีรัฐประหาร ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจ คงไม่มีใครอยากหอบเงินมาลงทุนในประเทศที่ไม่มีอนาคต

เหนือสิ่งอื่นใดการจะเรียกความเชื่อมั่นได้ นอกจากการเมืองมั่นคง รัฐบาลเข้มแข็ง การเมืองต้องมีประชาธิปไตย ถูกทำนองคลองธรรม เพราะในห้วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติพากันตั้งคำถามกันมาก ทำไมพรรคการเมืองไม่ซื้อเสียงและได้อันดับหนึ่ง จึงไม่ได้เป็นรัฐบาล อย่าลืมทุกวันนี้ นักลงทุนมีทางเลือกมาก เขามีสิทธิจะไปลงทุนในประเทศที่เห็นว่าดีที่สุด

“ขยะใต้พรม” ที่หมักหมมมานาน จะต้องเร่งสังคายนาโดยเร่งด่วน เพื่อเรียก “ความเชื่อมั่น” กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

……………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img