วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSจัดงานรำลึก“ครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประกาศเจตนารมณ์ยับยั้งความรุนแรงในสังคม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จัดงานรำลึก“ครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประกาศเจตนารมณ์ยับยั้งความรุนแรงในสังคม

มธ.จัดงานครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เพื่อรำลึก-เก็บรับบทเรียนจากบาดแผลและความสูญเสีย ตลอดจนประกาศเจตนารมณ์ร่วมยับยั้งความรุนแรงในสังคม สกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอดีต “อ.ษัษฐรัมย์” ปาฐกถาพิเศษย้ำ ‘6 ตุลาฯ ไม่ได้ตายเปล่า แต่สร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ การต่อสู้ของคนธรรมดาที่ตั้งคำถามต่ออำนาจนิยม-อภิสิทธิ์ชน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “ครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2566 ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และเรียนรู้บทเรียนจากบาดแผลและความสูญเสีย ตลอดจนแสดงความอาลัยต่อวีรชน และประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านความรุนแรงในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีต โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน ผู้แทนองค์กรทางการเมือง มูลนิธิ ชมรม สหภาพ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” จากนั้นได้เข้าสู่พิธีรำลึกวีรชนโดยมีการอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และวางพวงหรีดและช่อดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ “6 ตุลาคม 2519”

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในทุกปี มีความหมายเป็นอย่างยิ่งในการสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเอาเป็นวันสำคัญ เพื่อตอกย้ำความทรงจำของเหตุการณ์นี้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่เราจะไม่อาจลืมเลือนไปได้ และเราจะร่วมกันเก็บรับบทเรียนนี้ ในฐานะพลเมืองของอารยะประเทศที่มีประชาธิปไตยเป็นเป้ามุ่งหมายสูงสุด

นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านบทกวี “เรายังต้องการสิ่งใดอีก” เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ท่ามกลางความบันเทิงเริงใจของยุคสมัย ที่ผู้คนพร้อมจะทิ้งมนุษยธรรมเพื่อสรรเสริญความชั่วช้า เรายังต้องการสิ่งใดอีก แสงสว่างจากเปลวเทียนร้อยพัน บทกวีดาษดื่น เสียงตะโกนโห่ร้องอย่างสิ้นหวัง หรือการร้องไห้รื้นน้ำตาที่ไร้ความหมาย

“แต่ท่ามกลางหนทางทะเลทรายที่โหดร้าย เราเพียงต้องการความหวัง และความยุติธรรมที่มีชีวิต หล่อเลี้ยงชโลมทา บรรเทาความกระหาย ให้ผู้ล่วงหลับไม่สาบสูญ ผู้หยัดยืนไม่สูญหาย ผู้หวังใจไม่ตายเปล่า เราเพียงต้องการความหวัง” นายคุณากร กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ในหัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน: ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ” ตอนหนึ่งว่า มนุษย์สามารถตายได้สองครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อลมหายใจปลิดปลิว หรือกระสุนปลิดขั้วหัวใจ เมื่อสมองไม่ทำงาน หรือเมื่องานศพได้จัดขึ้น แต่การตายครั้งที่สอง คือเมื่อคนที่รู้จักได้ลืมเลือนเราออกไปจากหัวสมอง เมื่อเราหายไปจากความทรงจำของผู้คน

“แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมเรียนรู้ว่า มนุษย์สามารถฆ่ากันให้ตายได้เป็นครั้งที่สาม ซึ่งยิ่งกว่าการลืมเลือนไปจากหัวใจของผู้คนที่เรารัก แต่คือการบิดเบือน บิดเบี้ยว เจตนาของความตาย เจตนาของการมีชีวิตอยู่ของเรา ให้มารับใช้คนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การของตนได้เรียนรู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่ช่องว่างทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าอยากลืมเลือน ผู้คนรู้จักเหตุการณ์นี้ดี จดจำได้ หากแต่ขึ้นกับว่าบรรยากาศของสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อใดสังคมมีบรรยากาศอำนาจนิยมหรือเผด็จการ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็จะถูกบิดเบี้ยวและลืมเลือน แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานก็ตาม

“แต่เมื่อใดที่สังคมมีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย เมื่อใดที่คนรุ่นใหม่กล้าท้าทาย ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานเพียงใด ผู้คนก็จะไม่ลืมเลือน แต่การรำลึกถึงเหตุการณ์ก็จะเวียนกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะผ่านไปร้อยปี หรือพันปี ฉะนั้นระยะเวลาไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญต่อความจำและความลืมของผู้คนในสังคม” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ปาฐกถาต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ไม่ว่าเราจะเชื่อในการต่อสู้นี้ในฐานะการต่อสู้ของนักอุดมคติ การสร้างสังคมนิยม หรือการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเชื่ออย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้ความเลวร้ายในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ นั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นแต่อย่างใด และไม่ว่าเราจะรู้จักเหตุการณ์นี้มากน้อยเพียงใด แต่อยากเน้นย้ำว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อน ของการที่คนธรรมดาล้วนมีความปรารถนาที่อยากให้สังคมนี้ดีขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น

“ยืนยันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ตายเปล่า แต่ได้สร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ และการต่อสู้ของคนธรรมดา ทั้งหมดนี้คือต้นกล้าแห่งความฝัน การตั้งคำถามของคนธรรมดาต่อความผิดปกติของสังคม ตั้งคำถามต่อความร่ำรวยบนความยากจน ตั้งคำถามต่อเผด็จการเหนือประชาธิปไตย ตั้งคำถามต่อชีวิตอภิสิทธิ์ชนเหนือชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ตั้งคำถามต่อความเมินเฉยและเงียบเสียงต่ออำนาจ และทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่อะไรมาก เพียงแค่ยืนยันความเป็นมนุษย์ของพวกเรา” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

อนึ่ง ผู้แทนองค์กรที่ร่วมพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ญาติวีรชน 6 ตุลา, มูลนิธิ และสถาบันปรีดี พนมยงค์, ญาติวีรชน 14 ตุลา, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชมรมโดมรวมใจ, สมัชชาคนจน, เครือข่ายเดือนตุลา, มูลนิธิ 14 ตุลา, ญาติวีรชนพฤษภา 35, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ฯลฯ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img