วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSอนาคตภายใต้พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม “มหาวิทยาลัยสงฆ์”ใหม่ เกิดแน่!!.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อนาคตภายใต้พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม “มหาวิทยาลัยสงฆ์”ใหม่ เกิดแน่!!.

วันก่อนนั่งคุยกับ “นักวิชาการพุทธศาสนา” ท่านหนึ่งบอกว่า ตอนนี้ทั้ง มจร และ มมร ไม่ได้เป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” แล้ว เป็นเหมือนกับมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วไป เพราะสังกัด อว. ไม่ได้สังกัด “มหาเถรสมาคม” ทั้งหลักสูตรและวิถีคิดยุคนี้ของผู้บริหารส่วนใหญ่ ก็เป็นแบบ “คฤหัสถ์” ไปหมดแล้ว ท่านว่ามาอย่างนี้ ได้แต่คิดตาม ไม่พูดหรือโต้แย้งอะไร??

วันหนึ่งไปนั่งคุยกับ “พระเทพเวที” เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ในฐานะตัวแทนมหาเถรสมาคม “มือร่าง” พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านบอกว่า ตอนนี้คณะสงฆ์ไทยมีกฎหมายเพียง 2 ฉบับเท่านั่นคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์ กำหนดภารกิจให้คณะสงฆ์ทำงานไว้  6 ด้าน แต่ไม่มี “งบประมาณ” ให้ คือมอบแต่งาน แต่ไม่มอบเงินให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ปรับปรุงแก้ไขไปแล้ว 4 ครั้ง อีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ซึ่งท่านถือว่าเป็น พ.ร.บ.แห่งประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยและของตัว “พระเทพเวที” เองด้วย เพราะทำมากันมือคุยทุกเรื่องทั้งปัญหาและอุปสรรค ของการได้มาซึ่งงบประมาณ ที่รัฐบาล “เศรษฐา” เพิ่งอนุมัติงบกลางให้ไป “346” ล้านบาท

สาเหตุความล่าช้า..ท่านบอกว่าไม่ได้เกิดจากรัฐบาล “ประยุทธ์” แต่เกิดจาก “พวกเรา” กันเอง คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ คณะสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องเอง อันเนื่องมาจากเป็น “ของใหม่”

และเรื่องการอนุมัติกลางของรัฐบาล “เศรษฐา” ความจริงตั้งเรื่องอยู่ในแฟ้มตั้งแต่รัฐบาล..ประยุทธ์แล้ว

ประเด็นที่ “น่าสนใจ” ใน พ.ร.บ.ตัวนี้ ไม่กี่วันที่ผ่าน “พระเมธีวัชรบัณฑิต” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มจร เปิดประเด็นไว้ว่า

“คนที่อ่าน พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบผิวเผินแล้ว มักจะสรุปเอาดื้อๆ ว่า ตามมาตรา 22, 23 และ 24 นั้น ผู้เรียนจะได้วิทยฐานะตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงปริญญาตรีเท่านั้น ถ้าอ่านกฏหมายให้ละเอียดลึกซึ้งจะพบว่า มาตรา 24 วรรคสอง ได้ชี้ว่า “ในกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีสนามหลวงชั้นใด ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ผู้นั้นมีวิทยฐานะระดับใดๆ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดไว้” ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มหาเถรสมาคม สามาถเปิดหลักสูตรตั้งแต่ ป.ตรี-ป.เอกได้

สอดรับกับ “มือร่างกฎหมาย” ฉบับนี้ เท่าที่คุยกับ “พระเทพเวที”  ซึ่งรู้ลึกซึ้งเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ได้ดีที่สุด ยิ่งกว่าตุลาการ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็บอกเช่นกันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้คณะสงฆ์ภายใต้ความเห็นของของ “มหาเถรสมาคม” สามารถเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอกได้..

ท่านยังบอกต่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “อนาคต” ตอนนี้คณะทำงานพยายามทำข้อมูลเพื่อของบประมาณให้ทันภายในเดือนนี้ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่สังกัด 4 กลุ่มภายใต้ พ.ร.บ.พระปริยัติธรรมนี้ คือ กลุ่มโรงเรียนปริยัติธรรม กลุ่มบาลี กลุ่มนักธรรม และกลุ่มพระปริยัตินิเทศ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัง

หากเรื่องนี้จบอนาคตอาจเห็น “วิทยาลัยสงฆ์” ทั้ง 4 ภาค ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้

ผู้บริหาร มจร และ มมร ฟังแล้วคงสะท้าน สิ่งก่อสร้างที่สร้างไว้ 40-50 แห่ง อนาคตหากมหาเถรสมาคมเปิดวิทยาลัยแข่ง จะเอา “วัตถุดิบ” ที่ไหนมาเรียน มัวแต่เปิดหลักสูตรพิเศษ มัวแต่ของบประมาณจัดสร้างอาคาร ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

“เปรียญสิบ” แม้จะจบ “คณะสังคมศาสตร์” จาก มจร แต่บางทีก็คิด ความเป็นมหาวิทยาลัย หลักสูตร รูปแบบการศึกษา พฤติกรรมของคนภายในองค์กร รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการจอง มจร  ที่ปัจจุบัน หากมันหลุดออกจากความเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์” มาก หลุดออกจากกลิ่นอายความเป็น “พุทธศาสนา” มาก

จะกลายเป็น “บูมเมอแรง” กลับมาทำร้ายตนเอง!!

…………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img