กต. เผยคนไทยเสียชีวิตเพิ่ม อีก2 ราย ยอดรวมเสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย และถูกจับไปเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 14 ราย ขณะที่มีคนไทยแสดงความประสงค์จะกลับไทยเพิ่มขึ้น รวมเป็น 5,019 ราย ไม่ประสงค์กลับไทย 61 ราย
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.66 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าสถานการณ์ในประเทศอิสราเอล ว่า ขณะนี้ยังมีการโจมตีด้วยจรวดใกล้กับฉนวนกาซา โดยฝ่ายอิสราเอลพยายามเข้ายึดคืนพื้นที่ ทั้ง 2 ฝ่ายจึงมีพลเรือนและทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะเดียวกันอิสราเอลกำลังเร่งซ่อมรั้วชายแดนอิสราเอลกับฉนวนกาซา อย่างไรก็ตามยังมีผู้ก่อการหลบซ่อนอยู่ในอิสราเอลอยู่บ้าง
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบต่อคนไทยในอิสราเอล ต้องขอแสดงความเสียใจ หลังจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รับแจ้งแรงงานในพื้นที่ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จรวดโจมตี อีก2 ราย ทำให้ขณะนี้มีคนไทยเสียชีวิต รวม 20 คน นอกจากนี้ยังได้รับรายงานด้วยผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย และถูกจับไปเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 14 ราย นอกจากนี้ มีคนไทยแสดงความประสงค์จะกลับไทยเพิ่มขึ้น รวมเป็น 5,019 ราย ไม่ประสงค์กลับไทย 61 ราย (สถานะคืนวันที่ 10 ต.ค.) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้เดินทางไปเยี่ยมคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่โรงพยาบาล พร้อมกับไปเยี่ยมแรงงานไทยซึ่งได้ถูกอพยพมาแล้ว
นางกาญจนา กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวทางสื่อโซเชียลว่ามีการช่วยเหลือคนไทยอพยพออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติม 14 รายนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่เรามีรายชื่ออยู่ โดยที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลและบริษัทจัดหางานได้เร่งอพยพคนต่างๆ รวมทั้งแรงงานไทย ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้หลายร้อยคนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว โดยได้ให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว และนิคมเกษตรกรรมในพื้นที่ปลอดภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับการอพยพคนไทยกลับประเทศไทยนั้น คนไทยกลุ่มแรกจำนวน 15 คน เดินทางจากอิสราเอล กลับมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 12 ต.ค. เวลา 10.35 น. ด้วยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ เที่ยวบิน LY 083 โดยจะมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ไปรอรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนวันที่ 18 ต.ค. เรายังยืนยันจองเครื่องบินพาณิชย์เพื่ออพยพคนไทยอีก 80 คน ขณะที่เครื่องบินของกองทัพอากาศกำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ แต่ขอยืนยันว่าจะอพยพคนไทยออกมาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ซึ่งมีข้าราชการประจำ 7 คน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งกำลังเร่งประสานในทุกช่องทาง โดยกระทรวงการต่างประเทศจะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ซึ่งบางคนมีประสบการณ์การในอพยพคนไทย เดินทางไปช่วยภารกิจอพยพครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตามกรณีที่มีบางประเทศได้อพยพคนของตัวเองออกไปเสร็จสิ้นแล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศยุโรป ที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือพลเรือนทั่วไป และไม่ใช่แรงงานในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งระยะทางใกล้อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับตัวไป ยืนยันถึงความปลอดภัยได้หรือไม่ นางกาญจนา กล่าวว่า ยืนยันยากมาก เพราะอยู่ในสถานการณ์สงคราม ทั้งนี้จำนวนตัวประกันจากทุกชาติรวมถึงชาวอิสราเอลเอง รวมประมาณ 150 คน คาดว่ากระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่ไม่สามารถยืนยันถึงความปลอดภัยของทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตามทุกประเทศต่างมีความพยายามเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีรายงานว่ามีแรงงานคนไทยหลายคนอยู่ในรัศมีพื้นที่อันตราย ขณะที่เสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนแล้ว มีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นางกาญจนา กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม และถูกจับกุมเพิ่มเติม เอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลในทันที แสดงความกังวลในความล่าช้าในการอพยพคนออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งฝ่ายอิสราเอลก็แสดงความเสียใจและเขาก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พร้อมกับขอให้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่อการโยกย้ายคนออกมา และพยายามอยู่อย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องเสบียงก็น้ำดื่มก็ได้ทราบว่ามีความยากลำบาก อย่างไรก็ตามการการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ต้องมาจากฝ่ายอิสราเอล และทางการอิสราเอลที่อยู่ในพื้นที่