วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEปลุก“สตง.”ต้องกล้าหาญ เดินหน้าสอบ “ดิจิทัล วอลเล็ต”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลุก“สตง.”ต้องกล้าหาญ เดินหน้าสอบ “ดิจิทัล วอลเล็ต”

ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคณะอนุกรรมการเฝ้าระวังสภาวะการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษารวบรวมรายละเอียด ข้อมูลคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต”

ที่ประชุมและรวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงรายละเอียด โดยใช้เครื่องมือที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว นำเสนอให้ ป.ป.ช. รับทราบและดูผลดำเนินการ

และขณะนี้ได้เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นวาระเริ่มต้น โดยหารือเบื้องต้นว่า จำเป็นต้องเชิญนักวิชาการหรือผู้ที่มีความรู้เรื่องต่างๆ มาศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นการตรวจสอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลเหมือนชุดที่ผ่านๆ มา

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ชุด “กล้านรงค์ จันทิก” มีความเห็นว่า หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบกรณีดังกล่าว น่าจะเป็นคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

พร้อมยกมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้ง ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา”

ความเห็นพ้อง แจ้งผลสอบ “รัฐสภา-ครม.-ปชช.”

ในกรณีที่คณะกรรมการ เห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน

ในกรณีที่ประชุมร่วมมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่ลงคะแนน ให้ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ทั้งหมด ร่วมกันลงนามในหนังสือ แจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชน เพื่อทราบด้วย

3 องค์กรอิสระต้องลงคะแนนชี้ขาด ฝ่าฝืนผิดจริยธรรม

สำหรับ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกคน มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมตามวรรคสอง

ในกรณีที่กรรมการผู้ใดไม่มาประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมาประชุมแล้วไม่ลงคะแนนเสียงหรืองดออกเสียง ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนวันประชุม หรือก่อนลงมติ แล้วแต่กรณี”

ดังนั้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องมีความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาและตรวจสอบเนื่องจากเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย มาตรา 8 คือ

1.อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ

2.เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

ในการนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยง และผลกระทบจากการดำเนิน นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต และจัดทำรายงานผลการศึกษาเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป

………………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img