นายกฯประชุมคกก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ นัดแรก ประกาศ 4 จังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย ประเดิมบริการ รพ.เขตดอนเมือง ธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศ โดยยกระดับระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนแผ่นดินไทย มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีการหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน
นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม 2 ตำแหน่ง คือ นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน และนายกสภาการแพทย์แผนไทย
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง โดยแก้ไขจุดที่เป็นปัญหาและความทุกข์ของประชาชน คือ ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมือง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงจัดการฐานข้อมูลทั้งหมด เพื่อมุ่งสู่ก้าวต่อไปคือ ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาได้ทุกที่ ให้ประชาชนทุกระดับสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก และร้านขายยาใกล้บ้าน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีทางเลือกที่เหมาะสม ลดขั้นตอนบริการ ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการโดยยึดหลัก “ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” เช่น นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงที ไร้ข้อจำกัด ผ่านระบบ Telemedicine การส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้ สปสช.สนับสนุนงบประมาณและจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น โดยจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7-14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน เป็นต้น โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เรื่องมะเร็งครบวงจรจะครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการคิกออฟทีม Cancer Warrior ทั้งระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพและระดับจังหวัดในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อดูแลประชาชนทุกจังหวัดให้มีความรู้และตระหนักในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ 5 มะเร็งสำคัญ คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก, คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และคิกออฟคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566
นอกจากนี้ จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยี PET/CT Scan SPECT/CT การแพทย์เฉพาะบุคคล การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และรังสีรักษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่วนสถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยที่รับการดูแลแบบประคับประคอง ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่าเดินทาง ลดความกังวลครอบครัว จะพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5 พันคน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home หรือ Home Ward ทุกจังหวัด โดยจะมีการเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือนธันวาคม 2566
สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด ยึดหลักการ “เพื่อนแท้มีทุกที่” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด นอกจากนี้ จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม