วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"จุลพันธ์" ชงบอร์ดชุดใหญ่เคาะดิจิทัลวอลเล็ตสัปดาห์หน้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“จุลพันธ์” ชงบอร์ดชุดใหญ่เคาะดิจิทัลวอลเล็ตสัปดาห์หน้า

“จุลพันธ์” เตรียมเสนอบอร์ดชุดใหญ่สัปดาห์หน้า เคาะดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ชง 3 แนวทางพิจารณา ยันใช้งบประมาณลุยโครงการ ขีดเส้นซื้อสินค้าในเขตอำเภอ กระตุ้นใช้จ่ายท้องถิ่น ยอมรับโอนเงินล่าช้าหลัง เม.ย.67 ย้ำร้านค้าขึ้นเงินต้องอยู่ในระบบภาษี


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาทางเลือกต่างๆ ใน 3 ประเด็นหลัก

1.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

2.ตัดกลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝาก 1 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงินดิจิทัล มีจำนวน 43 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

3.ตัดกลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝาก 5 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงิน มีจำนวน 49 ล้านคน ใช้เงิน 4.9 แสนล้านบาท

“ เดิมโอนเงินให้กับทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้เงิน 5.4 แสนล้านบาท เปลี่ยนเป็นการจัดทำทางเลือกกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ”

นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้แนวทางการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC ตามกรอบเดิม โดยใช้ฐานข้อมูลเดิม ซึ่งเคยยืนยันตัวตนไว้กับภาครัฐ จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเข้าร่วมโครงการ สำหรับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ส่วนจะเปิดดำเนินการเมื่อไรจะประกาศอีกครั้ง

ด้านการใช้จ่าย มุ่งเน้นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ในเขตอำเภอ เพื่อกระจายรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น ถือว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไป ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน หากใช้ไม่หมด จะถูกตัดส่งคืนคลัง จึงตัดทางเลือกเขตตำบล และระดับจังหวัด สำหรับการขึ้นเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท ทำได้เฉพาะร้านค้าอยู่ในระบบภาษี ทั้งการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ในส่วนของแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหลากหลายแนวทาง ทั้งการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินกู้ และการใช้กลไกอื่น ๆ เช่น มาตรการกึ่งการคลัง โดยโจทย์ของฝ่ายนโยบายที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น คือการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก กลไกดำเนินการคือผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอให้ดำเนินการโดยใช้งบผูกพัน เช่น หากโครงการ 4 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบผูกพัน 4 ปี โดยเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นการขึ้นเงินของร้านค้าก็อาจจะต้องชะลอไป ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดในเงื่อนไข ตรงนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเสนอให้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าตรงนี้จะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พรบ. วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันไม่ใช้เงินจากธนาคารออมสิน เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย

“ จะใช้กรอบงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักเหมือนเดิมตามที่ฝ่ายนโยบายได้เคยให้โจทย์ไว้ แต่เมื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบงบประมาณปี 2567 ซึ่งอาจจะล่าช้าไปราวเดือน เม.ย. -พ.ค. 67 ก็ยอมรับว่าโครงการแนวโน้มน่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่งจากเดิมวันที่ 1 ก.พ.67 แต่ก็มีข้อดีคือเราจะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่ อย่าเพิ่งสรุป แต่รัฐบาลจะพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว

ขณะที่ผู้บริหารและดำเนินการระบบ มอบหมายให้ ธนาคารกรุงไทย จัดทำแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็นระบบบล็อกเชน มีความปลอดภัย เนื่องจากเคยสร้างแอปฯ เป๋าตัง มาใช้รองรับบัตรสวัสดิการฯ และบริการต่างๆ ของรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างระบบขึ้นใหม่ แยกจากแอปฯ เป๋าตัง ด้วยการโอนฐานข้อมูลเดิมเข้ามาใช้ ยืนยันใช้เงินสร้างระบบไม่ถึง 12,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img