วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทศวรรษที่หายไปของ“หุ้นไทย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทศวรรษที่หายไปของ“หุ้นไทย”

หลังเลือกตั้งใหม่ๆ ตอนที่ พรรคก้าวไกล จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คนกลุ่มที่หวาดผวากลัวก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลสุดๆ คือ นักลงทุนในตลาดหุ้น หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า “นักเล่นหุ้น” นั่นเอง

คนกลุ่มนี้มองว่า นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นปฏิปักษ์กับตลาดทุนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเก็บภาษีจากการขายหุ้น ภาษีนิติบุคคล หรือที่เรียกว่า “ภาษีมั่งคั่ง” นโยบายรื้อโครงสร้างทุนผูกขาด โดยเฉพาะกลุ่มทุนพลังงาน  

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มี “รัฐบาลเศรษฐา” สถานการณ์แทนที่จะดีขึ้น กลับหนักกว่าที่คิด กระดานหุ้นแดงเถือกเกือบทุกวัน ในรอบเกือบ 2 เดือน หุ้นไทยดิ่งเกือบ 200 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว อาการหุ้นไทยเวลานี้นับว่า “เข้าขั้นโคม่า” ต้องอยู่ในห้องไอซียู. แม้วันศุกร์ที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้อุ่นใจมาบ้าง โดยปิดตลาดที่ระดับ 1,388.23 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 17.01 จุด หรือ 1.24% แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ต่างพากันช็อค เพราะดัชนีหุ้นไทยร่วงลงถึง 30.48 จุด ถือว่าร่วงแรงมากๆ จนถึงตอนนี้ หุ้นไทยโดยเฉลี่ยตกกว่า 20% น่าจะหนักที่สุดในโลกเลยทีเดียว

แม้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสัญญาณว่า ยังไม่เชื่อมั่นรัฐบาลก็ตาม แต่ไม่แฟร์ถ้าจะโยนบาปไปให้รัฐบาลนี้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก การที่ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงค่อนข้างมาก สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน โดยมาจากปัจจัยความกังวลจากสถานการณ์ความขัดแย้งจากภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส รวมถึงความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวจะยังกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้มีความผันผวนต่อไป

เหนือสิ่งใดสิ่งที่เกิดตลาดหุ้นไทยไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นทศวรรษที่หายไป จะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยวิ่งเฉลี่ยอยู่แค่ประมาณ 1,536 จุดมาโดยตลอด ทำให้สูญเสียผลตอบแทนจากการลงทุนไปมาก สะท้อนจากผลตอบแทนของหุ้นไทยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตแค่ +6% ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย +61% และเวียดนาม +175% จะเห็นว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านให้ผลตอบแทนสูงมาก

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยมีปัญหาโตต่ำกว่าคู่แข่งทุกปี ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ที่เป็นคู่แข่งในเรื่องของตลาดเงิน ตลาดทุน เพราะแย่งทุนของไทยไปมาก โดยจีดีพีของไทย +1.9% แต่จีดีพีเวียดนาม +6% อินโดนีเซีย +4.3% และมาเลเซียที่ +4.2%

จึงไม่แปลกที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยออกไปกว่า 9 แสนล้านบาท เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไทยยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ ในช่วงหลังๆ นักลงทุนไทยเองได้หันไปลงทุนในตลาดหุ้นคู่แข่ง อย่างเวียดนามมากขึ้น เม็ดเงินยิ่งเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยน้อยลง

แรกๆ นักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกคนก็ตั้งความหวังไว้ว่า หลังเลือกตั้งประเทศไทยได้มีรัฐบาลใหม่ และไม่ใช่พรรคที่สืบทอดอำนาจ คสช.ตลาดหุ้นไทยน่าจะดีขึ้น แต่ตรงกันข้ามตลาดหุ้นกลับไม่ขานรับ “รัฐบาลเศรษฐา” เนื่องจากรัฐบาลยังยืนยันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้ช่วงหลังๆ เสียงเริ่มอ่อน อาจจะต้องมีการปรับแผนด้วยการไม่แจกให้กับคนที่มีรายได้ต่อเดือน 2.5 หมื่นบาทขึ้นไป แต่แผนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน นักลงทุนก็ยังกังวลว่า หากยังเดินหน้าแจกทุกคน คนละหมื่นบาท จะกระทบฐานะการคลังของไทย ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ดี ผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อาจส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลก และสร้างแรงกดดันให้เฟดต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก

อีกทั้งนักลงทุนกังวลว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้เปราะบางกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด 10 ปี ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ไทย ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้ มีกำไรรวมกันเพียง 5 แสนกว่าล้านบาท และคาดว่าในปีนี้ทั้งปี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีกำไร ราว 1.1 ล้านบาท หรือเติบโตราว 4% เท่านั้น ซึ่งผิดคาดค่อนข้างมาก

ปัจจัยลบอื่นๆ เช่นกรณีอื้อฉาวในตลาดหุ้นไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ยิ่งถูกซ้ำเติมจากกรณี ของมอร์และสตาร์ค รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ ที่ผิดนัดชำระหนี้แถมโดนถล่มจากการทำ “ช็อต เซลล์” ของนักลงทุนรายใหญ่ มีทั้ง นักลงทุนไทย และ นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือหุ้นบลูชิพไว้เต็มเพดาน แต่ไป “ยืมหุ้น” มา “ขายชอร์ต” เพื่อทำกำไร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อ “นักลงทุนรายย่อยไทย” ทำให้ขาดทุน จนไม่กล้าเข้ามาลงทุนเลยกลายเป็นการกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ

จึงไม่แปลกใจ ที่ตั้งแต่ต้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติเคยซื้อหุ้นไทยสะสมสูงสุด 2.25 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันยอดซื้อสุทธิสะสมลดลงจนเหลือเพียง 1.01 แสนล้านบาท (ช่วง 1 ม.ค.2565-1 มิ.ย.2566) ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ต่างชาติขาดความมั่นใจ จึงพากันทะยอยเทขายออกไปนั่นเอง

………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img