ในที่สุด “รัฐบาลเศรษฐา 1” โดย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ “บอร์ดอีวี” ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นั่งเป็นประธาน ก็เคาะมาตรการสนับสนุนการใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 67 ไปจนถึงปี 70
ทั้งนี้…ทั้งนั้น…ก็เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย EV 30@30 ที่ต้องการให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ที่ไม่ปล่อยมลพิษเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2573 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และติด Top10 ของโลก
ที่สำคัญในช่วง 9 เดือนของปี 66 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งถึง 7.6 เท่า โดยมีจำนวน 50,340 คัน ว่ากันว่า ตลอดทั้งปี 66 นี้จะพุ่งปรี๊ดสูงไปถึง 85,000 คันทีเดียว
แถมยังช่วยสร้างการลงทุนมากถึง 61,425 ล้านบาท หลังจากภาครัฐให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เมื่อปี 60 ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (บีอีวี) การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตชิ้นส่วนสำคัญรวมไปถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า
อย่างล่าสุด!! รัฐบาลโดย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” ก็ไฟเขียวให้การส่งเสริมการลงทุนกับ บริษัท ฉางอัน จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บีอีวี ปีละ 58,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊กอิน ปีละ 36,000 คันต่อปี ซึ่งก็เปิดตัวเปิดแผนกันไปเรียบร้อยก่อนหน้านี้แล้ว
ณ เวลานี้ เปรียบเหมือนเป็น “นาทีทอง” ของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ก็ว่าได้ ทั้งในด้านการลงทุน ทั้งในด้านของผู้ซื้อ เพราะส่วนหนึ่งมาจากจำนวนรุ่นของรถอีวี ในไทย ที่มีให้เลือกมากกว่า 50 รุ่นย่อยในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันจากมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ก็ทำให้บรรดาแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวีจากจีน ซึ่งเป็นรายใหญ่ เร่งนำเข้ารถสำเร็จรูปจากจีน เพื่อเข้ามารับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศกันอย่างคึกคัก
เมื่อตลาดคึกคัก รถยนต์อีวี มีให้เลือกมากมาย ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันให้เกิด “สงครามราคา” โดยราคารถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ในตลาดปรับตัวลงลงไปม่น้อยกว่า 10-20%
ในเมื่อรถไฟฟ้าในไทย มียอดใช้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และไม่ใช่เพียงแค่กระแสอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ “รัฐบาลเศรษฐา” ได้เดินหน้าสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ!! ยังหมายมั่นปั้นมือที่ต้องปั้นให้อุตสาหกรรมนี้อยู่ในไทยอย่างยั่งยืน ถึงขนาดที่ “เศรษฐา” เอง ต้องนั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ได้ดั่งใจที่คาดหวัง
การที่รัฐบาลตัดสินใจเคาะมาตรการอีวี 3.5 นี้ ออกมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ก็ทำให้นักลงทุน ยิ่งมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ยิ่งสามารถที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้เร็ว ไม่ยืดเยื้อ และยังกระตุกกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ได้รวดเร็วขึ้นอีกต่างหาก
ส่วนมาตรการรอบนี้ ก็ยังคงเหมือนเดิม สำหรับผู้ซื้อ โดยรัฐให้เงินอุดหนุนตามประเภทของรถไฟฟ้า และขนาดของแบตเตอรี่ ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท แต่มีเงื่อนไขว่ารถยนต์ไฟฟ้า ต้องมีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
ในด้านของผู้ประกอบการ รัฐจะลดภาษีนำเข้าให้ไม่เกิน 40% เฉพาะรถนำเข้าซีบียู หรือแบบสำเร็จรูป ในช่วงปี 67-68 สำหรับรถที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังลดภาษีสรรพสามิตให้ 6% จากที่ต้องเสีย 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
แต่มีเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ หากนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตในประเทศชดเชย 2 คัน สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้ารถยนต์อีวี ภายในปี 69 และจะเพิ่มเป็น นำเข้า 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 3 คัน ในปี 70
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และ ผลิตในประเทศไทย ต้องได้รับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมไปถึงต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อีกต่างหากด้วย
ทิศทางในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าในไทย มีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย แต่หากหันกลับมาดูผู้ใช้ เอง แม้ตัวเลขจะพุ่งเป็น 7 เท่า 8 เท่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้พร้อมที่จะใช้แค่ไหน?
อย่าลืมว่า…คุณสมบัติของยานยนต์ไฟฟ้า แม้ตอบสนองในเรื่องของเร็ว ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แต่เนื่องจากเป็นระบบไฟฟ้า ความปลอดภัยจึงมีสูง หากพฤติกรรมคนขับ ยังคงติดอยู่กับพฤติกรรมกับการใช้รถสันดาป ระบบความปลอดภัยที่ว่าอาจแปรเปลี่ยนกลายเป็นความเสี่ยงเข้าให้ก็ได้
เพราะ… ว่ากันว่า ณ เวลานี้ การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ขณะที่ปัญหาเรื่องการเคลมประกัน ก็ยังไม่นิ่ง ในเรื่องของแบตเตอรี่
เท่านี้ยังไม่พอ ในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีชาร์จไฟฟ้า ในเส้นทางนั้นมีเพียงพอ มากน้อยแค่ไหน?
นี่เป็นเพียง เสียงสะท้อน เท่านั้น ไม่ใช่คัดค้าน เพียงแค่ว่า นโยบายต้องทำให้ครอบคลุมในทุกด้านในทุกมิติก็เท่านั้น!!
……………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)