“กทพ.” กางแผนลงทุนปี 10 ปีขยายทางด่วนครบ 11 โครงการวงเงิน 4 แสนล้านบาท ปี 67 เปิดประมูลทางด่วน 4 โครงการ วงเงิน 9.1 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมกรุงเทพฯ-ภูมิภาค
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ตั้งเป้าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะขยายการลงทุนโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ครอบคลุมไปยังพื้นที่ในภูมิภาคในหลายจังหวัด โดยมีโครงการทั้งหมด 11 โครงการ ระยะทาง 200 กม. มูลค่า 400,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 30,000 ล้านบาท
2.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท
3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท และตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) วงเงิน 50,000 ล้านบาท
4.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท
5.โครงการส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้จ.ภูเก็ต วงเงิน 47,000 ล้านบาท
6.โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท
7.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 ด้านทิศใต้ (สมุทรสาคร-สมุทรปราการ วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท
8.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย วงเงิน 50,000 ล้านบาท
9.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด วงเงิน 10,000 ล้านบาท
10.โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 20,000 ล้านบาท
11.โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) วงเงิน 4,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 67 กทพ.มีแผนนำร่องเปิดประมูลโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมประกาศขายเอกสารการประกวดราคาภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลประมาณกลางปี 67 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 70
2.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้ว หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในการปรับรูปแบบการร่วมลงทุนใหม่โดยโครงการนี้กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองแทนการเปิดประมูลในรูปแบบระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยใช้ คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 71
3.โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นเอกชนผู้ที่ได้รับสัมปทานมาร่วมทุนกับกทพ.เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรี ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ซึ่งประเมินจากการคาดการณ์รายได้ภายใน1 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยหักกับวงเงินลงทุนของโครงการฯ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ(บอร์ด)กทพ.ชุดใหม่และครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
4.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท ปัจจุบันกทพ.ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการกทพ.และครม.เห็นชอบอนุมัติประมูลโครงการตอน N2 ภายในกลางปี 67