เปิด 5 คำถาม! “นิกร” ลงนามส่งหนังสือถึง 2 สภา เตรียมถามความเห็นเชิงลึกทำประชามติแก้รธน. ช่วงสมัยประชุม ก่อนสรุปชง ครม. ต้น ม.ค. เผยยกคณะ พบทูตสวิตเซอร์แลนด์ ขอข้อมูลทำประชามติ จากประเทศที่มีประชาธิปไตยทางตรง
วันที่ 4 ธ.ค.2566 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ลงนามหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำถามประชามติในส่วนที่จะขอความเห็นของ สส. 500 คน และ สว. 250 คน ให้พิจารณาหลังจากที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมวันที่ 12 ธ.ค. นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อสรุปในส่วนดังกล่าววันที่ 21 ธ.ค. ทั้งนี้ในคำถามที่ส่งไปยัง สส. และ สว. นั้นจะเป็นคำถามเชิงลึกมีมากกว่า 1 คำถาม อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่, เห็นควรทำประชามติก่อนการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญและมีผลต่อการสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. ที่ต้องเห็นชอบด้วยเสียง 1 ใน 3 และคำถามของที่มาของ ส.ส.ร. ว่าจะเลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับนักวิชาการ
“ในประเด็นการรับฟังความเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมด จะเสนอให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณาในปลายเดือนธ.ค.นี้ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการทำประชามติถามประชาชน เบื้องต้นอาจจะมีคำถามพ่วงในประเด็นของรูปแบบหรือที่มาของส.ส.ร.ด้วย”นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตนได้ทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกับร่างแก้ไข มาตรา 13 จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่มาลงคะแนน ตนได้เสนอให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งเพียงชั้นเดียว คือ เฉพาะผู้ออกมาใช้สิทธิที่ต้องออกมาเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนผลการลงคะแนนให้ใช้เฉพาะเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดีข้อสรุปเรื่องดังกล่าวต้องรอผลการศึกษาจากนายวุฒิสาร ตันไชย กรรมการประชามติอีกครั้้ง
เมื่อถามถึงทิศทางการส่งตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายนิกร กล่าวว่า กรรมการฯ ไม่มีประเด็นดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองจะพิจารณาหลังจากที่ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้น อนุกรรมการ จะเดินทางไปรับฟังความเห็นประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ และในวันที่ 11 ธ.ค. ตนและคณะกรรมมการฯ ประมาณ 10 คน จะเข้าพบทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพูดคุยถึงการทำประชามติ ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และควรรับฟังเพราะการทำประชามติไม่ได้ใช้เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำถามการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก มีจำนวน 5 ข้อ
1.เห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมี 3 คำตอบคือ เห็นสมควรจัดทำทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 / จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ / ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่
3.ในกรณีเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาประการใด ที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งสามารถเลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ประกอบด้วย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน / การมีส่วนร่วมทางการเมือง / ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหารฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ / วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก /และอื่นๆ
4.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สมควรตั้งส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ /สมควรตั้งสสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด
5.ในการจัดทำประชามติเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ทำก่อนเริ่มดำเนินการใดๆในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อน และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ