การบินไทยอาจถูก “ถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์” หลายคนคงไม่เชื่อหากไม่ได้ยินจากปากของ “นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการดำเนินการ กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้ บริษัทมีแผนที่จะปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ เพื่อให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะมีการเพิ่มทุน รวมถึงมีการให้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้สิน อีกทั้งบริษัทได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน
ในขณะนี้บริษัทการบินไทยมีแผนการปฏิรูปธุรกิจเพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ โดยได้เริ่มโครงการมากกว่า 600 โครงการ และมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น อาจทำให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกกับธุรกิจการบินอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้หากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯได้รับมติเห็นชอบจากเจ้าหนี้แล้ว ศาลจะจัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ โดยหากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน บริษัทจะเร่งดำเนินการตามแผนที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด
หากพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และแนวทางการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระยะเวลาบริษัทในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 จะพบว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาข้างต้น บริษัทยังอาจจะไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปได้ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทยังคงมีค่าน้อยกว่าศูนย์ กรณีนี้อาจจะเข้าข่ายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป
งานนี้ทำเอาคนไทยมึนกันทั้งประเทศ ยิ่งผู้ถือหุ้นต่างพากันช็อกไปตามๆ กัน ยังไงก็อย่าให้ถึงขั้นนั้นเลย นับจากนี้ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลจะลงเอยรูปแบบไหน เหตุที่มาถึงจุดนี้ได้ เพราะในอดีตการบินไทยเองก็มีขยะซุกไว้ใต้พรมมากมาย ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
โดยส่วนตัวเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและคนไทยจะต้องเลิกยึดติดกับคำว่า “สายการบินแห่งชาติ” ที่ชาวบ้านต้องคอยเอาบ่ามาแบกรับ แต่ครั้นจะปล่อยให้ล้มละลายไปต่อหน้าต่อตาก็เสียของเปล่า ๆ อย่าลืมว่า “จุดแข็ง” ของการบินไทยก็มีมากมาย โดยเฉพาะ “เรื่องสิทธิการบิน” มีเส้นทางการบินที่มีความสำคัญในเชิงธุรกิจหลายเส้นทาง มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง รู้จักกันทั่วโลกว่าการบริการเป็นเลิศ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีมูลค่าและเป็นแต้มต่อสำคัญของการบินไทย
ฉะนั้นทางออกที่ดีต้องแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือ การบินไทยต้องลดทอนความเป็นรัฐวิสาหกิจลง ยกเลิกความเป็น “สายการบินแห่งชาติ” เพื่อให้การบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่กระทรวงคลังยังจำเป็นต้องถือหุ้นไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาลักษณ์ว่า สายการบินใหม่นี้เป็น “สายการบินของประเทศไทย” แม้ไม่ใช่ของรัฐบาลแล้วก็ตาม
หากใครถามว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้อพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่า 12% ของจีดีพี ก็ยังจำเป็นต้องมีสายการบินของประเทศไทยไว้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศ และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย ให้มีความมั่นใจว่ามีสายการบินที่บินตรงมายังประเทศไทยแน่ ๆ แต่ถ้าเราไม่มีสายการบินของตัวเอง หวังพึงสายการบินประเทศอื่น รับรองว่า นักท่องเที่ยวที่เคยมาประเทศไทยจะหนีไปเที่ยวประเทศที่มีสายการบินที่บินตรงแทน
แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจเข้ามาลงทุนในไทยหากการเดินทางไม่สะดวกคงไม่มีใครอยากมาทำธุรกิจและมาลงทุน แม้กระทั่งรัฐบาลเองบางครั้งอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเพื่ออำนวยความสะดวก เวลาเกิดวิกฤตในยามคับขันเช่นขนคนกลับประเทศในช่วงเกิดโรคโควิด-19ระบาดหนักจึงจำเป็นต้องมีสายการบินของตัวเองไว้หากจะ ไปยืมจมูกคนอื่นหายใจคงจะลำบาก
นี่คือ คำตอบว่า ทำไมประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติให้เป็นภาระ แต่ต้องมีสายการบินของประเทศไทย เหมือนลุฟฮันซ่า ก็ไม่ใช่สายการบินแห่งชาติเยอรมันแต่เป็นสายการบินของประเทศเยอรมัน
……………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”