ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า” หลังนักลงทุนหันมาถือครองดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.07-35.24 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ โดย ADP ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่างยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.03 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ 1.3 แสนตำแหน่ง โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง กดดันให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.52% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีหน้าของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้นต่อได้ Hermes +1.2%, ASML +0.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -1.4%, BP -1.3% หลังราคาน้ำมันดิบต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังคงส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.11% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้หากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (เน้นกลยุทธ์รอจังหวะ Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกจะย่อตัวลงตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด (กรอบ 103.8-104.2 จุด)
ส่วนราคาทองคำนั้น แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯจะทยอยย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ส่วนแนวต้านของราคาทองคำในช่วงนี้อาจอยู่ในโซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดที่เข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอาจใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในการทยอยขายทำกำไรได้ โดยในกรณีดังกล่าว โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็จะพอช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งเอเชียเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -0.3% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ราคาพลังงาน และผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงายยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตายอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ซึ่งจะสะท้อนถึงความยากลำบากในการหางาน ว่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ในกรอบ โดยเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามจังหวะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินผันผวน ซึ่งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งตลาดหุ้นไทยได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบใกล้โซนแนวรับสำคัญ ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้เราคงประเมินว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับแถว 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้ (แนวรับสำคัญถัดไป 35 บาทต่อดอลลาร์)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาทต่อดอลลาร์