วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ตระบัดสัตย์’ตามหลอน‘บิ๊กต่อ-เฉลิมชัย’ ยากพา‘ประชาธิปัตย์’ฝ่า-รอดพ้นวิกฤติ!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ตระบัดสัตย์’ตามหลอน‘บิ๊กต่อ-เฉลิมชัย’ ยากพา‘ประชาธิปัตย์’ฝ่า-รอดพ้นวิกฤติ!!

ถือเป็นภารกิจที่ยากพอสมควร กับการกอบกู้ความนิยมของ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) ให้กลับมา และสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้น กับพรรคที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด และถูกยกให้เป็นสถาบันการเมือง หลัง “บิ๊กต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรค ในที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ด้วยคะแนนโหวตกว่าร้อยละ 80 ให้เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9

แม้ภายหลังการได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ “เฉลิมชัย” จะออกมาประกาศ ขอให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องชาวปชป.ว่า กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดนี้จะยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการ และพรรคปชป. จะไม่มีความเป็นอะไหล่ให้กับพรรคไหน และการเริ่มต้นที่สำคัญของพรรคปชป.คือการขับเคลื่อนพรรค คือเริ่มทำทันที ทั้งในส่วนของพรรคและสภา

“ผมจะทุ่มเททุกอย่างให้ปชป. เป็นฝ่ายค้านที่สมบูรณ์ และเข้มแข็งที่สุด และเชื่อมั่นว่าเรามีความเป็นเอกภาพเราสามารถนำสิ่งที่สูญเสียกลับมาได้” หัวหน้าพรรคปชป. กล่าว

แต่ถ้าไปไล่ดูรายชื่อกก.บห.ชุดใหม่ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ล้วนเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด “บิ๊กต่อ” แทบทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่รองหัวหน้าพรรคประจำภาค 5 คน และรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คน ประกอบด้วย “สมบัติ ยะสินธุ์” สส.แม่ฮ่องสอน เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ “ไชยยศ จิรเมธากร” อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน “ประมวล พงศ์ถารวาเดช” สส.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม. เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ส่วนรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ 8 คนเสนอคือ 1.นริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย 2.จิตภัสร์ กฤดากร อดีตรองเลขาธิการพรรค 3.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาราเล่ สส.สงขลา 4.นราพัฒน์ แก้วทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ 5.ธารา ปิตุเตชะ อดีตสส.ระยอง 6.นต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรคฯ 7.มนตรี ปาน้อยนนท์ อดีตสส.ประจวบฯ และ 8.อภิชาติ ศักดิเศรษฐ

โดยรายชื่อกก.บห.ชุดนี้ ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายผู้อาวุโสภายในพรรคอย่าง “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน” แม้แต่คนเดียว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช้เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านั้น อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ถูกมองว่า อยู่คนละขั้ว กับ “ผู้คุมอำนาจในปัจจุบัน” และมักออกมาวิจารณ์รูปแบบในการทำงาน ของ “ทีมงานเฉลิมชัย” อย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีมีแกนนำพรรคปชป. บางคนเดินทางไปพูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย (พท.) ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าวมี “ดีลลับ” พรรคปชป.จะรวมรัฐบาลกับพรรคพท.แต่ “ชวน” แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกันมาโดยตลอด และอุดมการณ์แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน ในวันที่มีการโหวตสรรหานายกฯ ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา สส.กลุ่มเฉลิมชัย จำนวน 16 คน ก็แหกมติพรรค ไปโหวตให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ นำมาสู่เสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และถูกวิจารณ์ว่า “ปชป.” พร้อมเป็น “อะไหล่ทางการเมือง” ให้กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 

โดยคาดหวังว่าในอนาคต หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรค พท.อาจเทียบเชิญ “ปชป.” เข้าร่วมรัฐบาล ยิ่งกก.บห.ชุดใหม่ เป็นคนที่ “บิ๊กต่อ” เลือกมา ส่วนสส. 21 คนของพรรคเก่าแก่ อยู่ภายใต้อาณัติ “เฉลิมชัย” เท่ากับว่ากลุ่มอำนาจใหม่ ยึดครองพรรคแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งสส.ในสภาฯ และ กก.บห. ดังนั้นจึงสามารถกำหนดทิศทางพรรคได้อย่างเต็มที่

ชวน หลีกภัย

ด้าน “ชวน หลีกภัย” กล่าวถึงผู้บริหารชุดใหม่ของพรรคปชป.ว่า “ท่านก็ประกาศชัดเจนว่า 1.สิ่งที่พูดเอาไว้ว่า อย่าให้พรรคปชป.เป็นพรรคอะไหล่ ตอนนั้นมีความคิดที่ดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ไปร่วมกับเขา ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น 2.สิ่งที่ห่วงคืออุดมการณ์ของพรรค ข้อ 1 ข้อ 2 ชัดเจน ที่ประกาศมา 78 ปีแล้ว คือเรื่องการเมืองบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ สุจริต คือสิ่งที่ย้ำตลอดมา”

อดีตหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวอีกว่า ส่วนที่ปชป.ได้รับการยอมรับเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่เพราะอยู่นานเสมอไป ถ้าอยู่นานแล้ว “โคตรโกง-โกงทั้งโคตร-หัวหน้าติดคุก” ก็ไม่มีใครยอมรับความเป็นสถาบันการเมือง แต่ที่คนรุ่นก่อน หัวหน้าพรรคทุกคน เขาทำหน้าที่มาด้วยความซื่อตรง สุจริต จึงทำให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ส่วนในอนาคตเป็นอย่างไร หวังว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ฝากเขาว่า ขอให้ยึดอุดมการณ์พรรคเอาไว้ ถึงแม้จะไว้วางใจได้ไม่เต็มที่ก็ตาม แต่ฝากกก.บห.บางคนที่ยังรัก ห่วงพรรคอยู่ ช่วยกันดูแล อย่าให้เขาเอาพรรคไปหากิน 

จริงๆ ก็ไม่ใช้เรื่องแปลก กับท่าทีของ “ชวน” เพราะในระหว่างการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ “ชวน” ได้เสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ลงแข่งชิงตำแหน่งผู้นำพรรค แต่ “อภิสิทธิ์” ขอพูดคุยกับ “เฉลิมชัย” เป็นการส่วนตัวประมาณ 10 นาที ก่อนที่ประกาศไม่ลงสมัครชิงตำแหน่ง และขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคปชป.

คาดว่า การพูดคุยของบุคคลทั้งสอง “อภิสิทธิ์”คงสอบถามว่า หากตนเองลงสมัคร เฉลิมชัยจะลงแข่งหรือไม่ เมื่อ “เฉลิมชัย” ยืนยันจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้อดีตหัวหน้าพรรคปชป. ไม่ต้องการให้ตนเองต้องตกอยู่ในสภาพพ่ายแพ้ จึงขอถอนตัวในที่สุด ซึ่งหากย้อนไปในอดีต สมัย “อภิสิทธิ์” ทำหน้าที่ผู้นำพรรค ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ “เฉลิมชัย” เพราะเคยเลือกหัวหน้าพรรคปชป.คนปัจจุบัน ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ซึ่งการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคปชป.ของ “อภิสิทธิ์” คงไม่ต้องการให้ “เฉลิมชัย” หวาดระแวงว่าในอนาคตจะมีการเลื่อยขาเก้าอี้      หรือเล่นเกมแทงข้างหลัง

แต่การทำงานของ “บิ๊กต่อ” จากนี้ไป ก็คงไม่ราบรื่น เพราะบทบาทและจุดยืนในอดีต ดูจะสวนทางกับการกระทำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะเมื่อวันที่ 14 ส.ค.65  ได้ไปร่วมเปิดตัวผู้สมัคร สส. ในนามพรรคปชป.ภาคใต้ ภายใต้สโลแกน “รวมพลัง 30 เลือดใหม่ทวงปักษ์ใต้คืน” ณ ศูนย์ประสานงานสำนักงาน สส.เดชอิศม์ ขาวทอง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

“เฉลิมชัย” กล่าวตอนหนึ่งว่า พื้นที่ภาคใต้ 58 ที่นั่ง พร้อมสู้ทุกเขต และจะได้ สส. มากกว่า 35-40 ที่นั่ง เพราะครั้งนี้ ผู้สมัครในพื้นที่ภาคใต้มีความเข้มแข็ง และพรรคมีความเป็นเอกภาพ พร้อมประกาศ ปชป.ในภาคใต้คือบ้านเรา ดังนั้น ต้องเอาบ้านหลังนี้กลับมา พร้อมกันนี้มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ สส.ทั่วประเทศมากกว่า 52 ที่นั่ง เพราะตนเคยประกาศไว้แล้วว่า หากได้ สส.น้อยกว่า 52 ที่นั่ง จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลก ถ้าหัวหน้าพรรคปชป.คนที่ 9 จะถูกตั้งคำถามว่า ตระบัดสัตย์หรือไม่  เพราะถือว่า ผิดคำพูดตัวเองที่ได้เคยกล่าวไว้ต่อหน้าสาธารณชน อีกทั้ง ปชป.ยังยึดถือคติพจน์ “สจฺจํ เว อมตา วาจา” คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ในการปฏิบัติตนทางการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แม้จะมีคำชี้แจงว่า การเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในพรรค เพราะต้องการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้น และเป็นไปตามคำเรียกร้องของ 21 สส. และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการให้ “เฉลิมชัย” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็คงลบล้างความรู้สึกฝ่ายตรงข้าม และผู้ไม่เห็นด้วยไม่ได้

นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคปชป. เพื่อเลือกผู้บริหารชุดใหม่ ก่อนการลงมติขอยกเว้นข้อบังคับพรรคให้กับ “มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค” ผู้ประกาศตัวลงสมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคปชป. กรณี ขาดคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี หรือไม่ได้เป็น สส.ในนามพรรคมาก่อน ตามข้อบังคับพรรคที่ 31 (6) และข้อ 32 (1)

เพื่อขอยกเว้นข้อบังคับพรรค ต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ซึ่ง ต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3 ใน 4 ถึงจะสามารถลงสมัครแข่งเป็นหัวหน้าพรรคได้ แต่ปรากฏว่า ผลการโหวตคะแนนของ “มาดามเดียร์” ไม่ถึง 3 ใน 4 จึงทำให้ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคได้ ทั้งนี้ พบว่ามีการส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ในไลน์กลุ่มประธานสาขาพรรค และ ตัวแทนสาขาพรรค ที่เป็นโหวตเตอร์

โดยถูกส่งมาจากคนชื่อ “ชวลิต” ซึ่งถูกระบุว่าเป็น ประธานสาขาพรรค จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุข้อความว่า 1.ถ้ามีการโหวตงดเว้นข้อบังคับพรรค 70:30 เราจะไม่ยกมือ 2.ถ้ามีการงดเว้นคุณสมบัติให้มาดามเดียร์ เราจะไม่ยกมือ แสดงถึงการสั่งโหวตเตอร์เพื่อสกัดไม่ให้ น.ส.วทันยาได้คะแนนเสียง

 

วทันยา บุนนาค

ส่งผลให้ “มาดามเดียร์” หมดสิทธิ์ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทั้งๆ ที่บรรดาผู้สนับสนุนเฉลิมชัย ก็คงคาดเดาได้อยู่แล้ว ว่าคะแนนฝ่ายสนับสนุน “เฉลิมชัย” เป็นต่อมากพอสมควร แต่ก็ยังเดินเกมสกัดคู่ต่อสู้อีก จึงถูกมองว่า ใช้กฎระเบียบและเสียงข้างมาก สกัดกั้นไม่ให้เกิดการแข่งขัน อย่างเปิดกว้างและเสรี ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ในที่สุด “มาดามเดียร์” คงตัดสินใจทิ้งพรรคปชป. เหมือน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สาธิต ปิตุเตชะ-สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” และคนอื่นๆ ซึ่งคงต้องจับตาดูว่า จะมีใครทิ้งพรรคเก่าแก่อีก และถือเป็นยุควิกฤติอีกครั้งหนึ่งของพรรคปชป.

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ก็สวนกระแสกับการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ที่หลายพรรคการเมืองพยายามดึงคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีบทบาทการนำพรรค เหมือนกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) เพราะโหวตเตอร์ที่มีอำนาจในการออกเสียงเลือกตั้ง จากนี้ไปจะมีคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พรรคปชป.กลับสนับสนุนนักการเมืองอาวุโสที่มีหลักในการทำงาน ยึดรูปแบบหาเสียง แบบอาศัยบ้านใหญ่ หรือนักการเมืองตระกูลดัง ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา บ้านใหญ่หลายตระกูล ต่างประสบความพ่ายแพ้ 

คงต้องรอดูว่า “เฉลิมชัย” และทีมงาน จะใช้รูปแบบอะไรในการสร้างคะแนนนิยมให้กลับคืนมากับพรรค โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวน สส. จากจำนวน 25 คนให้มากกว่าเดิม หรือภารกิจแรกหนีไม่พ้นการนำพาพรรคให้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นอะไหล่ทางการเมืองอย่างที่การกล่าวหากัน

แต่สำคัญที่สุดภาพลักษณ์ของ “เฉลิมชัย” ก็ถูกตั้งคำถามทั้งเรื่องการทำหน้าที่ในฐานะ รมว. เกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่ ส่วน “เดชอิศม์” ก็มีข้อสงสัยเรื่องภูมิหลัง ดังนั้นจะสามารถ กู้วิกฤติศรัทธาพรรคต้นสังกัดได้หรือไม่ ซึ่งกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่สิ่งหนึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งในสังคมได้เป็นอย่างดี หลังจากพรรคปชป.เสร็จสิ้นการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกก.บห.ชุดใหม่ รวมถึงคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ได้มีการเผยแพร่ภาพและรายชื่อของ “เฉลิมชัย” ผู้นำพรรคคนที่ 9 พร้อมด้วยกก.บห.อีก 39 คน ลงในสื่อโซเชียลต่างๆ ของพรรคฯ ทั้งทวิตเตอร์หรือ X “@democratTH” และเพจเฟซบุ๊ก “Democrat Party, Thailand พรรคประชาธิปัตย์” รวมถึงติ๊กต็อก (Tiktok) ที่ใช้ชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์ | Democrat”

ปรากฏว่า ได้มีชาวโซเชียลจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น “ต่อว่า” พรรคปชป. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ “เลือกคนไม่มีสัจจะ เปลี่ยนคำพูด” มาเป็นหัวหน้าพรรค ขณะเดียวกันอีกหลายคนที่แสดงความไม่มั่นใจในตัวบุคคลที่มาเป็นทีมผู้บริหารพรรค อีกทั้งมีผู้แสดงความเห็นหลายราย ประกาศไม่สนับสนุนพรรคปชป.อีกต่อไป รวมถึงมีวิจารณ์ว่า อนาคตของพรรคปชป.คงจบแล้วในครั้งนี้จากการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และรวมถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากสมาชิกพรรคปชป.ด้วย

จากนี้ต้องรอดูผู้บริหารปชป. จะสามารถฝ่าวิกฤติศรัทธาได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องไม่ง่าย กับการฟื้นฟูพรรคปชป. ให้กลับมาเป็นขั้วสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะสิ่งแรกคือ ห้ามเลือดหยุดไหล และการสร้างยอมรับให้เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมพรรค  ซึ่งถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ท้าทายความสามารถของหัวหน้าพรรคปชป.คนที่ 9

………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“ แมวสีขาว”                         

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img