วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSหลังได้“แสง”ตามต้องการก็ถึงงานใหญ่ “พิธา”ลุ้นคดีหุ้นสื่อ20ธ.ค.“รอด-ไม่รอด”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หลังได้“แสง”ตามต้องการก็ถึงงานใหญ่ “พิธา”ลุ้นคดีหุ้นสื่อ20ธ.ค.“รอด-ไม่รอด”

หลังได้ “แสง” ตามที่ต้องการไปแล้วสำหรับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคย “เกือบจะ” ได้เป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย กับการแถลงข่าววิจารณ์การทำงานของ รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ทำงานมา 3 เดือนและกำลังจะครบ 100 วัน โดยนับจากวันที่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาไปเมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

ที่เนื้อหาการแถลงข่าว แม้ไม่ได้อัด-สับ “นายกฯเศรษฐา” แบบจัดหนักจัดเต็ม บางเรื่องก็มีชม เช่น การช่วยเหลือแรงงานไทยที่อิสราเอล แต่ภาพรวม…ก็วิจารณ์แบบกัดๆ จนทำให้ “เศรษฐา” ต้องสวนทันควันจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางไปราชการที่เมืองปลาดิบ

และต่อจากนี้ “พิธา” มีนัดหมายสำคัญทางการเมืองของตัวเองและพรรคก้าวไกล นั่นก็คือ ต้องเตรียมตัวสู้คดี “หุ้นสื่อไอทีวี” ที่จะต้องเข้าห้องพิจารณาคดี “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตลอดทั้งวันพุธที่ 20 ธ.ค.นี้ ที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดี “หุ้นสื่อ”

อันเป็นคำร้องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลัง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ยื่นเปิดประเด็นต่อ กกต. เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “พิธา” ต้องพ้นจากการเป็น สส.หรือไม่ กรณีถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นไอทีวี ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งปี 2562 และ 2566 อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)และพรบ.การเลือกตั้งสส.ฯ ที่ห้ามผู้สมัครสส.ถือหุ้นสื่อก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง

ตามข่าวบอกว่า “พิธา”และ “ทีมทนายความ” มีความมั่นใจอย่างมากในการจะไปให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญวันพุธนี้ว่า จะทำให้ตนเอง อยู่ในฐานะฝ่ายที่จะชนะคดี ด้วยการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง จนทำให้ “พิธา” ได้กลับมาทำหน้าที่ สส.ในสภาฯอีกครั้ง

ความมั่นใจดังกล่าว เพราะ “พิธา” และ “ทีมทนายความ” มีการเตรียมข้อมูลหลายอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะหลักฐานเด็ด-หลักฐานใหม่ ที่ “ฝ่ายพิธา” มั่นใจว่า ถ้าแสดงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ทุกอย่างที่วิจารณ์กันมาตลอดหลายเดือน ตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง ว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ จะจบลงในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

เห็นได้จากที่ “พิธา” กล่าวตอบข้อซักถามสื่อมวลชน ระหว่างการแถลงข่าววิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยได้กล่าวถึงการไปศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 20 ธ.ค.นี้ว่า เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และมีความพร้อมที่จะขึ้นให้การไต่สวนพยาน ทั้งในเรื่องของหลักฐานที่เป็นหลักฐานส่วนตัว ในส่วนของผู้จัดการมรดก และหลักฐานว่าไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมองเรื่องของรายได้ เรื่องของสัญญาอนุญาตที่ต้องขอในการทำสื่อจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตรงนี้ กสทช.ตอบกลับมาชัดเจนว่า ไม่มีสัญญาอนุญาตทำสื่อของไอทีวี

“ดังนั้น ตรงนี้ก็พร้อมที่จะขึ้นบัลลังก์ในการให้ปากคำในฝั่งของผม และมั่นใจ 100 เปอร์เซนต์ว่า จะไม่ผิด ทั้งนี้ แนวเรื่องของการเป็นผู้จัดการมรดกมีหลักฐานที่ไม่เคยเปิดที่ไหนก็จะใช้ส่วนนี้จะอธิบายต่อสาธารณะ”

คาดหมายว่า หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนในช่วงเย็นวันที่ 20 ธ.ค. ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะประกาศนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติตัดสินคดีทันที ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ที่ก็คาดว่า น่าจะนัดลงมติและเผยแพร่ผลการพิจารณาคดีภายในเดือนมกราคม หรือช้าสุด ก็คงไม่น่าจะเกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ คำร้องคดีดังกล่าว หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมากหรือเอกฉันท์ ให้ยกคำร้อง ก็จะทำให้ “พิธา” ได้กลับมาทำหน้าที่สส.ในสภาฯอีกครั้ง

แต่หากผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า “ไอทีวี” ยังมีสถานะเป็นธุรกิจสื่อสารมวลชนอยู่ แม้ตอนนี้จะยุติการออกอากาศใดๆ ไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการ กับกระทรวงพาณิชย์ ก็ย่อมถือว่ายังประกอบการอยู่ และเห็นว่า “พิธา” ถือหุ้นสื่อไอทีวีไว้ โดยไม่ได้จำหน่าย-จ่ายโอนไปยังบุคคลอื่น ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีเจตนาถือครองหุ้นดังกล่าวที่ได้รับเป็นมรดกไว้

หากคำตัดสินออกมาเช่นนี้ “พิธา” ก็ไม่รอด ต้องหลุดจากสส.อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้โดนตัดสิทธิการเมืองใดๆ ยังสามารถลงเลือกตั้งได้อีก

ส่วนผลคดีอาญา ก็ต้องดูว่า กกต.จะเอาอย่างไร เพราะอาจมีการเสนอให้ กกต.เอาผิด “พิธา” ทางคดีอาญาตามมาอีก ตามมาตรา 151 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสส.ฯ

ขั้นตอนในส่วนนี้ ถ้าจะทำ…ลำดับแรก คณะกรรมการกกต. ต้องมีมติดำเนินคดีอาญากับ “พิธา” ว่ามีเจตนาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิลงสมัคร เพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แล้วก็ไปแจ้งความต่อตำรวจ โดยหากตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งอัยการ หากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญาฯ ปกติ แต่หากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งเรื่องกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ ผบ.ตร.มีความเห็น ซึ่งหาก ผบ.ตร. มีความเห็นแย้ง ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด หากอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา แต่หากอัยการสูงสุด ยืนยันสั่งไม่ฟ้อง คดีก็สิ้นสุดลงทันที

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนของ กกต.ที่ไต่สวนเอาผิดคดีอาญา “พิธา” ผลการพิจารณาออกมาว่า “เห็นควรให้ยกคำร้อง”

เพราะอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส. ช่วงวันที่ 4-7 เม.ย. ไม่พบว่า บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ

แต่ต่อมา ก็มีรายงานว่า อนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีพยานหลักฐานอะไรที่สำคัญปรากฏออกมาหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีผลคำตัดสินอย่างไร จากนั้นจึงจะมีการนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่าจะเอาผิด “พิธา” ในคดีอาญาหรือจะยกคำร้อง

ต้องรอดูกัน ว่า “พิธา” จะสู้คดีหุ้นสื่อ วันที่ 20 ธ.ค.นี้อย่างไร และศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยวันใด ?

งานนี้ “ด้อมส้ม-เอฟซี” ของ “พิธา-ก้าวไกล” คงใจระทึก !!!

……………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img