วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSไทยวิกฤติ‘ติดกับดักประชากรไร้คุณภาพ’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไทยวิกฤติ‘ติดกับดักประชากรไร้คุณภาพ’

ประเทศไทยกำลังเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติทับซ้อนหลายชั้น ต้องเผชิญปัญหาหลายเด้ง ทั้งในเรื่องของ “คนแก่ล้นประเทศ” เป็นประเภท “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนแก่” ประเทศไทยเดินเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง “หนุ่มสาววัยทำงาน” ลดลง รวมถึง “เด็กๆ เยาวชนในวัยเรียน” ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา ที่อาจเรียกได้ว่า ระบบการศึกษาไทยกำลังวิกฤติอย่างหนัก ทักษะด้านต่างๆ ตกต่ำลง

ประเทศไทยตอนนี้กำลัง “ติดกับดักประชากรไร้คุณภาพ” ไม่ตอบสนองการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ บัณฑิตที่ผลิตมาต้องตกงาน เพราะไม่ต้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประเมินคะแนน “PISA Score” หรือโปรแกรมการประเมินวัดระดับนักเรียนทั่วโลกที่จัดโดย “OECD” ที่วัดผลเด็กนักเรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีประเทศเข้าร่วม 81 ประเทศทั่วโลก

ปรากฏว่า เด็กไทยคะแนนตก ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก แม้ที่ผ่านมา เด็กไทยผลคะแนนตกต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่เข้าร่วมแข่งขัน แต่ฮือฮากันมาก เพราะปีนี้ผลคะแนนออกมา เด็กไทยคะแนนต่ำทุกวิชาและต่ำกว่าทุกปี

ก่อนผลสอบ PISA Score จะประกาศคะแนน ก็มีการเปิดเผย ผลสอบทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทย จากผู้เข้าร่วมทดสอบ 113 ประเทศ ปรากฏว่า เด็กไทยมีคะแนนอันดับ 101 และรั้งอันดับสุดท้ายจาก 8 ประเทศอาเซียน โดยคะแนนค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 416 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 502 คะแนน

ในเวลาไล่เรี่ยกัน การจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยก็อยู่อันดับท้ายๆ ของกล่มประเทศอาเซียน เรียกว่า ตกต่ำทั้งระดับมัธยมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เลยทีเดียว

ที่สำคัญ “วิชาที่ทำการทดสอบ” มีความจำเป็นในการนำไปใช้กับเทคโนโลยี ที่เป็นตอนนี้ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศ คนทำงานต้องมีองค์ความรู้ โดยเฉพาะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทั้งสิ้น จึงต้องอาศัยความรู้ ถ้าระบบการศึกษาไม่เข้มแข็งคนไม่มีคุณภาพ เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนไม่ได้

ผู้สูงอายุ / FB: https://thaitgri.org/

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติ “คนแก่ล้นประเทศ” ทุกวันนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” โดยสมบูรณ์ในปี 2564 มีการสำรวจพบว่า ไทยมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึง 15% ในปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน และในปี 2573 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุดอย่างเต็มตัว 

นั่นหมายความว่า ไทยจะมีประชากรสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากขึ้นถึง 28% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

คนสูงวัยมากขึ้น แต่คนในวัยทำงานกลับหายไปราว 7 ล้านคนไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากอัตราการเกิดต่ำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของประชากรเพียงแค่ 0.18% ในปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ 1.4-1.5 ต่อแสนคน หรือเฉลี่ยปีละ 5-6 แสนคนเท่านั้น

อัตราการเกิดที่ต่ำลงทุกปี ทำให้จำนวนประชากรของไทยหยุดนิ่งอยู่ที่ 66-67 ล้านคนมานานหลายปี ซึ่งการนิ่งอยู่เช่นนี้ ส่งผลให้กลุ่มผู้อายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ในวัยทำงาน ลดลงเหลือราว 50 ล้านคน แต่เหลือคนที่จะเป็นกำลังแรงงานจริงๆ อยู่ราว 40 กว่าล้านคนเท่านั้น ที่เหลือราว 10 ล้านคนอยู่ในวัยเรียน ไม่ได้ออกมาทำงาน

จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ ประเทศไทยกำลังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจากปัญหาคนแก่ล้น แถมเป็นคนแก่ก่อนรวย ไม่ใช่รวยก่อนแก่ คนเกิดก็น้อยลงทุกปี  นั่นหมายถึงศักยภาพการแข่งขันของประเทศลดลงตามไปด้วย

แต่ที่น่าห่วงว่า จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากในปี 2564 ประเทศไทยมีจีดีพีต่อหัว อยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์เท่านั้น ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ที่มีจีดีพีต่อหัวคิดเป็น 5 เท่าของไทย คนญี่ปุ่นจึงเป็นประเภทรวยก่อนแก่

การที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา แถมต้องมาติดหล่ม กับดักรายได้ปานกลาง ประกอบกับกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด อีกทั้งสัดส่วนของคนในวัยทำงานที่น้อยลงเรื่อยๆ พ่วงบุคคลากรก็ด้อยคุณภาพ จึงเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้

ที่สำคัญภายใน 10 ปี รัฐบาลไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการดูแลสุขภาพและเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง เพราะคนในวัยทำงานน้อยลง แต่คนใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณในการลงทุน พัฒนาทักษะประชากร และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มผลิตภาพประเทศทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะงบประมาณมีจำกัดต้องเจียดส่วนหนึ่งไปใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้น

อีกเรื่องที่คนในสังคมพูดถึงกันน้อย ทั้งที่เกิดขึ้นมานานเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินหน้า นั่นคือ ระบบการศึกษาผลิตคนไม่ตรงความต้องการของตลาด และคนจบมาทำงานไม่ตรงสายงานที่เรียนมา ทำให้ศักยภาพลดลง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img