วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจุดกระแสปม“นักโทษทักษิณ”ไม่นอนคุก ระวังลามถึง“เศรษฐา”-ทำ“อุ๊งอิ๊ง”สะดุด!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จุดกระแสปม“นักโทษทักษิณ”ไม่นอนคุก ระวังลามถึง“เศรษฐา”-ทำ“อุ๊งอิ๊ง”สะดุด!!

ช่วงแรกๆ หลายคนอาจมองว่า กระแสจุดไม่ติด เพราะหลังจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อเข้ามารับโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี  หลังจากได้รับพระราชอภัยโทษ จากเดิมต้องถูกจองจำ 8 ปี

แต่หลังเดินทางเข้าถูกคุมขังในเรือนจำ เพียงแค่วันแรก “นักโทษ” ที่มีเคยมีสถานะเป็นถึง “ผู้นำประเทศ” ก็เกิดอาการล้มป่วย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ท่ามกลางการตั้งคำถามว่า “ป่วยจริงหรือไม่” เพราะช่วงที่พำนักอยู่ต่างประเทศ มีการแพร่ภาพความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ ผ่านโซเชียลมีเดียว่า สภาพร่างกายก็แข็งแรง เหมือนไม่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่กลับต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 จนจะครบ 120 วัน…ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

ซึ่งในช่วงพักรักษาตัว ดูเหมือนกระแสสังคมจะไม่ให้ความสนใจ แม้จะมีนักการเมืองบางคน และนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง ทั้ง “กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์-โรงพยาบาลตำรวจ” แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

จนกระทั่ง “กรมราชทัณฑ์” ออก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งประกาศบังคับใช้ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับมี หนังสือบันทึกข้อความ ถึง “ผู้บัญชาการเรือนจำ-ผู้อำนวยการทัณฑสถาน-ผู้อำนวยการสถานกักขัง-ผู้อำนวยการสถานกักกัน” ให้ทราบ ทำให้เรื่องก็ร้อนขึ้นมาทันที สังคมเริ่มมีการตั้งคำถามว่า ระเบียบดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักโทษชายที่ชื่อ “ทักษิณ” หรือไม่ เพราะในรายละเอียดบางข้อ เปิดช่องให้นำนักโทษที่เข้าเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ดังกล่าว ไปควบคุมตัวนอกเรือนจำได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ระบุว่า ในกรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน นอกจากจะต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบ พร้อมกับความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาตัวแล้ว ยังต้องรายงานให้ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งในทางการเมือง ต่างรู้กันว่า “พ.ต.อ.ทวี” มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งแต่รับราชการ ในสมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้รับการผลักดันให้เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

อีกทั้งถ้าหากย้อนไปดู ช่วงจัดตั้งรัฐบาลชื่อ “พ.ต.อ.ทวี” ซึ่งเป็นแกนนำ พรรคประชาชาติ (ปช.) ก็มีชื่อติดโผเป็น “รมว.ยุติธรรม” มาตลอด จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ถูกวางตัวให้มาดูแล “กรมราชทัณฑ์” เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ การควบคุมตัว “ทักษิณ” แม้ว่า ที่ผ่านมาเวลาถูกสื่อตั้งคำถามถึงกระบวนการควบคุมตัวนักโทษชาย ที่เป็นอดีตนายกฯ แต่ “พ.ต.อ.ทวี” จะปฏิเสธตอบคำถาม และไม่ยอมชี้แจงมาโดยตลอด

แต่พอ…ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ ทำให้ “รมว.ยุติธรรม” ไม่เป็นจำเป็นต้องลงนาม

เพราะในระเบียบดังกล่าว จุดชี้ขาดอยู่ที่ “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” เพราะมีอำนาจว่าจะให้ผู้ต้องขังรายใด สามารถอยู่ในสถานที่คุมขังที่ใช่เรือนจำได้บ้าง ไม่ได้เป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง โดยคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธินี้ ประกอบด้วย 1.เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ 2.ผ่านการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขัง 3.มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด

แม้จะมีคำชี้แจงทำนองว่า ระเบียบดังกล่าวถูกผลักดัน มาตั้งแต่ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คำถามคือ ทำไมต้องมาประกาศในช่วงที่ “ทักษิณ” กำลังจะพักรักษาตัวครบ 120 วัน ยิ่งถ้ามองไปที่อดีตนายกฯ อย่างน้อยก็เข้าองค์ประกอบแล้วหนึ่งข้อ คือ การเป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ อีกทั้ง…กำลังใกล้ครบเงื่อนไขของการมีสิทธิได้พักโทษด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และรับโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก

โดยเวลาจำนวน 1 ใน 3 ของ “ทักษิณ” นั้น ถ้านับจากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 8 ปีเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ประกอบกับการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ส่งผลให้ “ทักษิณ” จะรับโทษครบ 1 ใน 3 ช่วงประมาณเดือนธ.ค.66 ด้วยเหตุนี้อาจทำให้มีความเป็นไปได้ว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังฯอาจให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

หรือระเบียบดังกล่าว ช่วยให้ “รมว.ยุติธรรม” ไม่ต้องลงนามตามกฎกระทรวง เพราะด้วยระเบียบระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 อาจทำให้ “ทักษิณ” ได้ออกจากโรงพยาบาล และกลับไปบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว อีกทั้งก็ช่วยให้ “พ.ต.อ.ทวี” ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะถือเป็นอำนาจคณะทำงานพิจารณาการคุมขังฯ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก พอเรื่องนี้ตกเป็นประเด็นข่าว “นักการเมืองฝ่ายค้าน” ต่างออกมาตั้งคำถามว่า “หรือ??คุกจะมีขังคนจน” กระบวนการยุติธรรมมีความเหลือมล้ำหรือไม่ “ทักษิณ” ที่ได้รับการลดโทษจำคุกจาก 8 ปีเหลือ 1 ปี  จะไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเลยซักวันเดียว…จริงหรือไม่ กระแสเริ่มจุดติด!! หลายกลุ่มเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แม้กระทั่ง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นจะสงบปากสงบคำ ไม่ออกมาวิจารณ์ถึงกรณีนักโทษชายชั้น 14 อีกทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกล จะออกมายอมรับว่า ได้เดินทางไปพบกับ “นายทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกงจริง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนให้เห็น สัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของ 2 ผู้นำที่มีอำนาจตัวจริงในพรรคแกนนำรัฐบาลและแกนนำฝ่ายค้าน

แต่ล่าสุด “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า…“ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่สังคมจับตาว่า เรามีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐานมาโดยตลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วย เราจึงคาดหวังว่า เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้มีการตั้งคำถามเยอะ โดยเฉพาะกรณีนายทักษิณ ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงระเบียบราชทัณฑ์ในการควบคุมตัวนอกเรือนจำ”

“ชัยธวัช” ยังย้ำว่า รัฐบาลควรตอบคำถามให้ชัดทั้ง 2 กรณี เพื่อให้สังคมสบายใจ ว่าเรื่องนี้ทุกคนจะได้รับสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้ได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น นอกจากนี้ระเบียบก็ยังมีปัญหา เช่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ใครจะได้รับสิทธิ์พิจารณาคุมตัวนอกเรือนจำบ้าง แต่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ล้วนๆ ถึงมีปัญหา ทั้งเรื่องนายทักษิณและระเบียบที่หละหลวม

ส่วน “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกมากล่าวถึงผลงานรัฐบาลที่โดดเด่นที่สุดว่า นโยบายของรัฐบาลที่มีผลงานเป็นประจักษ์ และสำเร็จมากที่สุดคือ ทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไม่มีชิ้นดี เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของ “ครอบครัวชินวัตร”

กรณี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ยังไม่ติดคุกเหมือนประชาชนนักโทษรายอื่น เป็นการใช้ทฤษฎี “เลือกปฏิบัติ-สองมาตรฐาน” อย่างชัดเจน การอ้างว่ามีความจำเป็นต้องรักษาตัว โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 มีคำถามมากมาย 1.ป่วยเป็นโรคอะไร 2.พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 จริงหรือไม่ และ 3.กรมราชทัณฑ์ใช้ระเบียบใด “ทักษิณ” ถึงได้สิทธินานขนาดนั้น หลากหลายคำถามที่ประชาชนเกิดความสงสัย แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

“กระบวนการยุติธรรมไทยโดนรัฐบาลชุดนี้ทำลายไม่มีชิ้นดี และคนรวย นักการเมืองที่มีอำนาจ จะใช้โมเดลทักษิณชั้น 14 เพื่อมีสิทธิพิเศษ ประชาชนทั้งประเทศต้องจำไว้ว่า คุกมีไว้ขังคนจน สำเร็จยอดเยี่ยม ภายใต้รัฐบาลชุดนี้” ราเมศ กล่าว

ส่วนการเคลื่อนไหวตรวจสอบ ทั้งในสภาและนอกสภา ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของกระบวนนิติบัญญัติผ่านทาง กรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช พรรคปชป. เป็นประธาน โดยนำเรื่องร้องเรียนของ “วัชระ เพชรทอง” อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชป. ที่ขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เข้ามาพิจารณา แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รายละเอียดมากหนัก 

โดย “ชัยชนะ” กล่าวว่า จากการเชิญ “นัสที ทองประหลาด” ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ และ “พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ” นพ.(สบ.7) รพ.ตำรวจ เข้าชี้แจง ซึ่งนายวัชระ เพชรทอง นายณัฐพงษ์ สุมโมธรรม สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ตำรวจ และตน ได้ตั้งคำถามกับกรมราชทัณฑ์ ถึงขั้นตอนในการรับนักโทษชายทักษิณมีกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการวินิจฉัย ว่าก่อนจะส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจอย่างไร มีโรงพยาบาลใดบ้างที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับกรมราชทัณฑ์ งบประมาณที่ใช้ในการรักษานักโทษมีอะไรบ้าง ทำไมการเดินทางไปเรือนจำของนักโทษชายทักษิณ จึงไม่ใช้รถของเรือนจำ แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างจากกรมราชทัณฑ์

“ชัยชนะ” กล่าวอีกว่า ในเมื่อผู้ที่เข้ามาชี้แจง ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างชัดเจนต่อตัวผู้ร้อง และสังคมไทยได้ กมธ.ตำรวจฯจึงจะจัดทำหนังสือเชิญ และขอเอกสารจาก “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก่อน แล้วจะเรียกเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ตำรวจอีกครั้ง แต่ยังไม่มีการกำหนดวัน โดยเมื่อได้รับคำชี้แจงเป็นที่ประจักษ์แล้ว ในช่วงหลังปีใหม่ก่อนวันเด็กแห่งชาติ เราจะเดินทางไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณได้พักรักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ถือเป็นของขวัญวันเด็ก

ส่วนนอกสภา นักร้องขาประจำ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางไปยื่นฟ้อง อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก และ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ต่อศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ฐานใช้อำนาจหรือดุลยพินิจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า การให้ “ทักษิณ” ไปรักษาตัวนอกคุกเป็นไปโดยมิชอบ และ “ใครบ้าง” ที่ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้อดีตนายกฯ และสั่งให้ “ทักษิณ” กลับมารับโทษในเรือนจำ ตามคำพิพากษาให้ครบ

นอกจากนั้นยังขอให้ศาลวินิจฉัย และสั่งให้กรมราชทัณฑ์ เพิกถอนระเบียบให้ผู้ต้องขังไปคุมตัวนอกเรือนจำ 2566 อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ โดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย เพื่อให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้ “ศรีสุวรรณ” ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ว่าเป็นการช่วยเหลือนายทักษิณ เป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หลังส่งตัวนายทักษิณที่มีอาการป่วยกำเริบจากเรือจำกลางพิเศษ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ

ส่วน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่เคลื่อนไหวตรวจสอบอดีตนายกฯที่มีสถานะเป็นนักโทษชายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดี​กรม​ราชทัณฑ์​ เพื่อขอให้รีบนำตัวนายทักษิณกลับเรือนจำ ภายหลังอ้างสิทธิในการเป็นผู้ป่วย แล้วย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำ เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมา และกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้มีการรักษาตัวต่อหลังจากที่ผ่านไป 60 วันนั้น โดยอ้างความเห็นของคณะแพทย์ที่อ้างว่ามีการผ่าตัดใหญ่ของนักโทษ

1.กรณีการประกาศใช้ระเบียบ กำหนดสถานที่กุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำนั้นนายทักษิณ เข้าหลักเกณฑ์ในการใช้ระเบียบข้อนี้ หรือไม่อย่างไร 2.ขอให้เร่งนำตัว ผู้ต้องขังเด็ดขาดทักษิณ กลับเรือนจำโดยทันที 3.ขอให้กรมราชทัณฑ์​รักษากระบวนการยุติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้กฎหมายมากกว่าการให้อภิสิทธิ์ แก่ใครคนใดคนหนึ่ง ตามศักดิ์ศรีข้าราชการฝ่ายยุติธรรม

จากนี้ต้องรอดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สถานะของ “ทักษิณ” จะสร้างผลกระทบกับรัฐบาลมากแค่ไหน เพราะถ้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” ไม่เล่นบทซูเอี๋ยกับรัฐบาล ต้องนำเรื่องนี้ไป ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เพื่อหาคำตอบจาก “กระทรวงยุติธรรม” และ ช่วยทวงความเป็นธรรมกับนักโทษรายอื่น

อีกทั้งเรื่องนี้…จะกลายเป็น รอยด่างของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” และ อาจส่งผลกระทบทางการเมืองกับ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เหมือนที่เธอออกมาตอบคำถามสื่อว่า “ไม่รู้จะชี้แจงอย่างไรดี นักข่าวช่วยคิดหน่อย แต่อิ๊งค์ก็ได้ให้กำลังใจตัวเองและครอบครัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง”

…………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img