วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightสภารับหลักการก.ม.เช็คเด้งไม่ต้องติดคุก เหตุไม่ใช่ทุจริต-หลายปท.ก็ไร้โทษอาญา
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สภารับหลักการก.ม.เช็คเด้งไม่ต้องติดคุก เหตุไม่ใช่ทุจริต-หลายปท.ก็ไร้โทษอาญา

“สภาฯ” รับหลักการกม.เช็คเด้งไม่ต้องติดคุก เหตุไมใช่การทุจริต ยกหลายประเทศก็ไม่มีโทษอาญา

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 ที่รัฐสภามีการประชุมสภา ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่วาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ มีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมายว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ให้ใช้เช็คทางธุรกรรม มีการกำหนดโทษทางอาญาจำคุกมาใช้บีบบังคับกับผู้ผิดนัดทางแพ่ง แม้ไม่มีเจตนาทุจริต ไม่สอดคล้องนโยบายรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ มาตรา77 ที่ให้กำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง จึงควรยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และมีบทเฉพาะกาลให้ผู้ต้องโทษ อันเนื่องจากความผิดได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยสส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายเห็นด้วยให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นกฎหมายล้าหลัง คนไม่ควรติดคุกกรณีเช็คเด้งที่เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจ อาทิ นายประสิทธิ ปัทมผดุงศักดิ์ สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คดีเช็คเด้งหลายครั้งมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่การทุจริต หลายประเทศก็ไม่มีโทษอาญา คดีเช็คเด้งมีแค่ 1% มูลค่าเช็กเด้ง 900 ล้านบาท แต่ภาครัฐต้องใช้งบ 800 ล้านบาท และเจ้าหนี้ต้องใช้งบ 200 ล้านบาท ติดตามคดี เท่ากับต้องใช้เงิน1,000 ล้านบาท ทวงหนี้ 900 ล้านบาท ไม่เกิดความคุ้มค่า

นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการยกเลิกคดีอาญาความผิดคดีเช็คเด้ง การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวทันทีทันใด โดยยังไม่มีมาตรการอื่นรองรับ จะทำให้เช็คเป็นตราสารที่ขาดความน่าเชื่อถือทันที ดูแล้วแก้ปัญหาปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุที่ธนาคารจะต้องกลั่นกรองคนออกเช็กมีความสามารถจ่ายเช็กหรือไม่ การยกเลิกกฎหมายเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ควรมีมาตรการรองรับก่อน ไม่ใช่รวบรัด เลิกดื้อๆแบบนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหากเกิดเช็กเด้ง ผู้สั่งจ่ายมีโทษติดคุก 1ปี ปรับไม่เกิน 6หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการใช้เช็ก แต่ปัจจุบันเช็กเด้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งธุรกิจมีปัญหา ต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่การทุจริต รัฐธรรมนูญกำหนดให้การติดคุกต้องใช้กับคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงจริงๆ ไม่ใช่มาจากการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาได้ จึงต้องแก้กฎหมาย ไม่ให้กระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้ต้องโทษจะพ้นโทษทันที คดีอาญาที่ยังไม่มีคำพิพากษาจะถูกจำหน่ายออกจากสารบบ เหลือแต่คดีแพ่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนเท่านี้น แต่หากพิสูจน์ได้ว่า ลูกหนี้มีเจตนาโกงตั้งแต่ออกเช็ก ก็ยังถือว่ามีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงได้

นายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกต การให้จำหน่ายคดีเช็กเด้งออกจากสารบบคดีอาญา โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ดูแล้วเป็นธรรมหรือไม่ จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เหล่าเศรษฐีหรือไม่ แม้แต่อดีตนายกฯบางคนติดคุก 1 นาทีก็ยอมไม่ได้ บางคนไม่กลัวความผิดทางแพ่ง แต่หวาดหวั่นห้องขัง ดูแล้วเป็นธรรมหรือไม่ แต่ควรมีบทบัญญัติรับโทษทางอาญาก่อนยกเลิกกฎมหายฉบับนี้ ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการกฎหมายฉบับนี้มีเหตุผล แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดเจนคือ เจตนาการทำผิด หากใครมีเจตนาทุจริตยังควรต้องติดคุกต่อไป

หลังจากที่สมาชิกอภิปรายครบถ้วนทุกแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ด้วยคะแนน 418 ต่อ 0 เสียง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img