วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSสภาฯเริ่มถกก.ม.สมรสเท่าเทียม “สมศักดิ์”ขอร่วมกันไม่แบ่งแยก เพื่อประโยชน์ของสังคม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สภาฯเริ่มถกก.ม.สมรสเท่าเทียม “สมศักดิ์”ขอร่วมกันไม่แบ่งแยก เพื่อประโยชน์ของสังคม

เริ่มแล้ว ถกร่างกม.สมรสเท่าเทียม “ภาคีสีรุ้ง” วอนสภาฯโหวตรับให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิตามกฎหมาย เป็นของขวัญปีใหม่ 67 ด้าน “สมศักดิ์” ขอทุกฝ่ายพิจารณาไม่แบ่งแยก เพื่อประโยชน์ของสังคม ย้ำเนื้อหาไม่กระทบหลักปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ 21 ธ.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งมีร่างพ.ร.บ.ที่มีลักษณะเดียวกันอีก 3 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, และ น.ส.อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เสนอ

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ชี้แจงในรายละเอียดของร่างกฎหมายของ ครม. ว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน รวมถึงคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญที่ขอแก้ไข 68 มาตรา อาทิ แก้ไขคำนิยามที่ครอบคลุมทุกเพศ, แก้ไขบทบัญญัติที่สอดคล้องกับลักษณะของคู่สมรสเพศเดียวกัน, ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับการแก้ไขพ.ร.บ.ภายใน 180 วัน ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การเขียนกฎหมายใหม่ จึงไม่กระทบจังหวัดชายแดนใต้ หรือกฎหมายอิสลาม ที่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไปในพื้นที่ สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับประชาชน ผู้นำศาสนา ทุกภูมิภาค พบว่าประชาชน 96.6% เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว

“การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ และรัฐบาล ในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างหลักประกันบุคคลทุกคนได้รับสิทธิก่อตั้งครอบครัวอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และส่งเสริมภาพลักษณ์ในสิทธิมนุษยชน สร้างความเชื่อถือต่อประชาคมโลก รวมถึงขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยลักษณะทางเพศ ผมยอมรับว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีความยุ่งยาก เพราะเคยเสนอมาตั้งแต่สภาฯ ชุดที่ผ่านมา แต่ไม่แล้วเสร็จ และขณะนี้มีการเสนอร่างกฎหมายรวม 3 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และของประชาชน ดังนั้นผมขอให้ทุกพรรคผ่านร่างกฎหมายโดยไม่คิดว่าเป็นของใคร ทุกฝ่ายควรร่วมใจทำกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม” นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายธัญวัจน์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การรับรองและคุ้มครองบุคคลที่เป็นคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ถูกต้องอย่างไรก็ดีตนเกิดมาเป็นกระเทย สิ่งที่จะติดตัวมาคือ ความเป็นไปไม่ได้ แต่ความเป็นกะเทยนั้นต้องได้รับสิทธิตามหลักมนุษยชน

ทางด้านนายณชเล บุญญาภิสมภาร นักกิจกรรมข้ามเพศ ฐานะประชาชนผู้ร่วมเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ชี้แจงว่า ให้สิทธิบุคคลที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน คู่รักต่างเพศ และคู่รักหลากหลาย จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายและหญิง รวมถึงให้ได้สิทธิรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีหน้าที่เป็นบุพการีที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ขอให้สภาฯโหวตรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนเพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2567 กับประชาชนที่สนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของประชาชน เพื่อให้สิทธิ และคุ้มครองบุคคลทุกเพศอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

นายสรรเพชญ ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มอบสิทธิให้ทุกคนเท่าเทียมเหมือนกับ คู่สมรสที่เป็นชาย-หญิง อาทิ ให้สิทธิบุคคลที่อายุ 18 ปีสมรสได้และสามารถสมรสกับชาวต่างชาติได้ โดยใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ รวมถึงมีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมคสเมื่อคู่สมรสเสียชีวิต และการรับบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ตนมองว่าหลักการจากนี้คือการสร้างความเสมอภาคทางสังคม และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยกฎหมายที่ดีต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน ด้วยการขยายสิทธิตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

จากนั้นสภาฯ ได้เปิดให้ สส. ได้อภิปรายในเนื้อหาสาระก่อนที่จะลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img