มติสภาฯ 369 ต่อ 10 รับหลักการร่างกม.สมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ ขาด “พรรคประชาชาติ” ไม่เห็นด้วยยกพรรค ตั้งกมธ.ศึกษา 39 คน
วันที่ 21 ธ.ค.2566 เวลา 13.20 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่วาระเรื่องด่วนพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ โดยมีพิจารณารวมไปกับร่างพ.ร.บ.อีก 3ฉบับที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันคือ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่น.ส.อรรณว์ ชุมาพร ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถหมั้นหรือสมรสกันได้ รวมถึงแก้ไขคำว่า ชาย หญิง สามี ภริยา และสามีภริยา เป็น บุคคล ผู้หมั้น ผู้รับหมั้นและคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยสส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปแนวทางเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีเพียงสส.ประชาชาติเท่านั้น ที่อภิปรายไม่เห็นด้วย
นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า จะลงมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมทั้ง 4ฉบับ เพราะขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ยืนยันไม่มีความขัดแย้งกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่ไม่สบายใจการแก้ไขเรื่องคู่ชีวิตให้เป็นเพศเดียวกันได้ ในคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุคู่สมรสต้องเป็นเพศชายและหญิงเท่านั้น มองเรื่องโลกเสรี แต่อย่าลืมมองเรื่องศีลธรรม
ต่อมาเวลา 18.55 น. ที่ประชุมสภาฯ ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนน 369 ต่อ 10 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) จำนวน 39 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน
ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณานานกว่า 5 ชั่วโมง