ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า ในปี 2567 นี้ จะเป็นปีที่มีการสานต่อเรื่องของ การแก้หนี้ครัวเรือน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการ “ล้างหนี้” ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ที่สำคัญ!! แบงก์ชาติได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องของการเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหา เริ่มตั้งแต่ต้นทางจากการให้สินเชื่อ เรื่อยไปจนถึงวงจรการเป็นหนี้
ที่ผ่านมาปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย…เป็นปัญหาที่สะสมกันมานาน แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกต่างหาก จนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถทะยานไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น
ด้าน สภาพัฒน์ ได้ออกมาย้ำข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทย ล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 66 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.6% หรือคิดเป็น 90.7% ต่อจีดีพี
เมื่อหันไปย้อนดูที่มาของการเป็นหนี้ จะพบว่า การให้สินเชื่อในทุกประเภท-ทุกชนิด เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมาจาก หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และ หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล
นอกจากนี้ต้องยอมรับด้วยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องของการขยายสินเชื่อของบรรดานายแบงก์
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจใดๆ หากจะเห็นบรรดาแบงก์ทั้งแบงก์รัฐ แบงก์เอกชน ต่างออกแคมเปญสารพัด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่ออุปโภค บริโภค และไม่ใช่เพียงแค่สถาบันการเงินเท่านั้น บรรดานอนแบงก์ ก็ออกโปรโมชั่นแย่งลูกค้า แข่งขันกันอย่างดุเดือดไม่เบาเช่นกัน
แม้ว่าที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างออกกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อของบรรดานายแบงก์ให้รัดกุม เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เดือดร้อนมากเกินไป แต่สุดท้าย!! ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ทั้งหมด
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว การเป็นหนี้ ต่อให้แก้อย่างไร? ก็ไม่หมด!! ถ้ายังใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น หรือมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
แต่เพื่อให้ทุกอย่าง เพื่อให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น ล่าสุดแบงก์ชาติ ได้ออกประกาศเรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้…ทั้งนั้น… ก็เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของนายแบงก์ทั้งหลายในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจร การเป็นหนี้อย่างเหมาะสม
เริ่มตั้งแต่…การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ และการดูแลช่วยเหลือหนี้เดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย เรื่อยไปจนถึงการดำเนินการตามกฎหมาย และการโอนขายหนี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูล เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า ตลอดวงจรหนี้
นอกจากนี้ยังส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ผู้ให้บริการต้องมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ ใน 8 ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การโฆษณา กระบวนการขาย การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ รวมไปถึงการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น
ทั้งหมดเป็นกรอบแนวทางที่บรรดานายแบงก์ ต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะถือเป็นกรอบแนวทางที่แบงก์ชาติพยายามเข็นออกมา โดยหวังว่าการเข้มงวดตั้งแต่ต้นทางน่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหาได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่กำหนดกันออกมาจะเป็นไปตามเป้าหมายได้หรือไม่ คงต้องรอดูกันอีกครั้ง!!
……………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)