ณ เวลานี้ คาดการณ์ได้เลยว่า ศึกซักฟอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะสามารถผ่านความเห็นทั้งสภาบนและสภาล่าง จนสามารถคลอดเป็นกฎหมาย และเริ่มตีปี๊ปเบิกจ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนพ.ค.นี้แน่นอน
แม้ระหว่างทาง “กรำศึก” ซักฟอกครั้งนี้ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จะถูกปรามาศจากฝ่ายค้านว่า เป็นงบประมาณที่เปรียบเสมือน “งบเป็ดง่อย” เพราะเป็นงบฯที่รับมรดกมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว แม้จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขไปบ้าง
แต่!! ไม่ได้ตอบโจทย์ ตามนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลได้แถลงไว้ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นรายจ่ายงบประมาณแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม และก็หนีไม่พ้นการเดินตามรัฐบาลชุดก่อนหน้า
ไส้ในของงบประมาณฯในปีนี้มีวงเงินทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายประจำ 2.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72.8% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4%
นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายลงทุนอีก 7.17 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20.6% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ อีก 1.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4% โดยรายจ่ายคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,230.2 ล้านบาท
ต้องยอมรับว่า การกรำศึกซักฟอกงบประมาณในครั้งนี้ ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก็หนีไม่พ้นในเรื่องของ “งบกลาง” ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 606,765.0 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ของวงเงินงบประมาณ โดยเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.8% หรือประมาณ 16,295 ล้านบาท
หรือแม้แต่งบฯในส่วนของกระทรวงกลาโหม ที่ฝ่ายค้านมองว่าควรจัดสรรให้ลดลง แต่ปรากฎว่า ในปีนี้กลับได้รับการจัดสรรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสวนทางนโยบายปฏิรูปกองทัพ-ลดกำลังพล
เอาเป็นว่ามองข้ามช้อตไปเลย เพราะต่อให้การอภิปรายงบประมาณในครั้งนี้ดุเดือดเผ็ดมันเพียงใด สุดท้ายด้วยรัฐบาลเสียงข้างมาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ย่อมต้องผ่านฉลุยแน่นอน
ปัญหาอยู่ที่ว่า…จะทำอย่างไร ให้เงินงบประมาณในปีนี้ ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้เร็วที่สุด-มากที่สุด เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่ล่าช้ามานานกว่า 2 ไตรมาสกันทีเดียว
ที่สำคัญการใช้งบประมาณนี้ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนคนไทยตาดำๆ ทั้งประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเหมือนที่เคยเป็น!!
นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในปีมังกรนี้ ดูทรงแล้วน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่มีความเสี่ยง ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซียและยูเครน สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ปัญหาเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะกลับมารุนแรงจนกระทบต่อราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกอย่างไร? จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกอีกมากน้อยแค่ไหน?
ด้วยเหตุนี้… การเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพในทุกโครงการ จึงต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ที่มองว่า แม้การเบิกจ่ายงบประมาณจะเริ่มดำเนินการได้ แต่เรื่องของเงินนอกงบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในโครงการต่างๆของรัฐบาล ก็ยังมีความจำเป็นไม่น้อย
ทั้งหลายทั้งปวง…ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถดีดตัวไปเติบโตได้อย่างน้อยระหว่าง 3.2-3.5% !!
ไม่เพียงเท่านี้!! สิ่งที่ทุกฝ่ายอยากเห็นแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งต้องวางแผนให้ชัดเจนอีกต่างหากด้วย
โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูโภคต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นระบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทย เพราะเชื่อว่าไทยมีโอกาสสูงมาก และยังมีอื่นๆ อีกมากมาย
ต้องยอมรับว่า… เหนือสิ่งอื่นใดที่ทุกฝ่ายอยากเห็นก็คือ เรื่องของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ต้องเร่งไม้เร่งมือให้ชัดเจน ให้เดินหน้า เพราะอย่าลืมว่า เวลาไม่เคยรอใคร ใครช้าก็ตกเวที !!
……………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)