“เซอร์ไพรส์” พอสมควร หลัง “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ.เพื่อพิจารณา การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 153
“สว.เสรี” ระบุว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต่อการยื่นญัตติดังกล่าว ขณะนี้ได้ปรับแก้เนื้อหาแล้วเสร็จ เตรียมให้ สว.ร่วมเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภาต่อไป เบื้องต้นจะให้ สว.ได้เข้าชื่อในวันที่ 9 ม.ค.เป็นวันแรก
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “เร็วไปหรือไม่” เพราะ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ยังไม่ถึง 4 เดือน เพิ่งผ่านการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งถ้าไปเทียบกับท่าทีของสว. ที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องบอกว่า “แตกต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว” แต่ถ้าย้อนไปถึง “ที่มาของ สว.ชุดปัจจุบัน” ก็คงไม่แปลกใจ เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” ขณะดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนลงนามแต่งตั้ง “สว.ชุดปัจจุบัน”
“สว.เสรี” กล่าวต่อว่า ประเด็นที่จะเสนอในญัตติตามที่หารือเบื้องต้น อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลังจาก กมธ.การเมืองฯได้ข้อสรุปในประเด็นรายละเอียด จะกำหนดวัน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดขึ้นในช่วง ก่อนปิดสมัยประชุมเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะให้ สว.เข้าชื่อ 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เพื่อยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภา ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของมาตรา 153 ไม่ได้กำหนดว่า ครม. ต้องมาตอบเมื่อใด แต่เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือ
ส่วน “สมชาย แสวงการ” สว. ในฐานะ ที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวในประเด็นนี้ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ สว.จะเข้าชื่อกันขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพราะผ่านมาแล้ว 4 เดือน แต่รัฐบาลนายเศรษฐายังไม่ได้ทำงานอะไร ที่เป็นผลงานรูปธรรม จึงควรที่ สว.จะใช้สิทธิ์ดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญอภิปรายทั่วไปรัฐบาล เพื่อเป็นการให้ความเห็นและ ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
สำหรับประเด็นที่ สว.จะอภิปราย คาดว่าจะมีหลายเรื่อง แต่เรื่องหลักๆ ก็มีเช่น การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เสียเวลาไป 4 เดือน แต่รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายดังกล่าวออกมา อย่างที่เคยหาเสียงไว้ รวมทั้งยังมีคณะกมธ.ศึกษาหลายคณะ ก็จะนำแนวทางการศึกษามาอภิปรายเพื่อเสนอต่อรัฐบาล รวมถึงเรื่อง “นักโทษทักษิณ ชินวัตร” ที่ตอนนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งกรณีของ “ทักษิณ” เป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นเรื่อง ท้าทายกระบวนการยุติธรรม จะมี สว.ลุกขึ้นอภิปรายแน่นอน เพราะ กรณี “ทักษิณ” เป็นการทำลายความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะหากประเทศไหนคนไม่มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ประเทศก็จะล่มสลาย จะมี สว.อภิปรายเรื่องทักษิณกันอย่างจริงจัง
อย่าลืม แม้สว.ส่วนใหญ่จะออกเสียง ให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา” แต่ก็มี สว.บางส่วนเคยเคลื่อนไหว “ต่อต้านระบบทักษิณ” ดังนั้นจึงจะมี “สมาชิกสภาสูงหลายคน” หยิบประเด็นอดีตนายกฯที่มีสถานะเป็น “นักโทษชาย” ยังไม่เคยถูกจำจองอยู่ในคุกแม้แต่วันเดียว หลังตัดสินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมา อีกทั้ง ไทม์ไลน์ของสว. ที่ต้องการอภิปรายทั่วไป ก็ใกล้เคียงกับช่วงฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล เท่ากับทำให้รัฐบาลต้องรับมือกับศึกหลายด้าน ซึ่งอาจเป็นปัญหาพอสมควร
ยิ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ฝ่ายบริหารจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ค. ซึ่งเมื่อถึงช่วงเดือนเม.ย. รายละเอียดต่างๆคงมีความชัดเจน เห็นถึงจุดอ่อน-จุดแข็งของกระบวนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนไปตรวจสอบวาระการดำรงตำแหน่งของ 250 สว.ชุดปัจจุบัน จะอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 269 (4) โดยกำหนดว่า “สว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยให้สมาชิกภาพของ สว. เริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง” ดังนั้นเมื่อ สว.ชุดแรก ได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 11 พ.ค.62 จึงหมายความว่า สว.ชุดดังกล่าวจะต้องหมดวาระไม่เกินวันที่ 11 พ.ค. 67
แต่เนื่องจากมาตรา 269 (6) กำหนดว่า “เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ให้ดําเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 107 และให้นําความในมาตรา 109 วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม” จึงเท่ากับว่า เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่ ดังนั้น 250 สว. จะพ้นจากตำแหน่ง ไวหรือช้า จึงขึ้นอยู่ๆ กับระยะเวลาการคัดเลือก สว.ชุดใหม่
เลยถูกมองว่า “สว.บางส่วน” ต้องการ “โชว์ผลงาน” ก่อนหมดวาระ เพื่อต้องการให้สังคมได้เห็นความสามารถในการตรวจสอบ ซึ่งบางคนตั้งเป้าหมายอยากทำงานด้านนิติบัญญัติ สมัครชิงเก้าอี้ในองค์กรอิสระ หรือลงชิงตำแหน่ง สว.อีกครั้ง เนื่องจาก สว.ชุดใหม่ 200 คน รัฐธรรมนูญกำหนดให้มาจากจาก กลุ่มอาชีพต่างๆ และ กลุ่มพิเศษ คัดเลือกกันเอง มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง”
โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้าน ต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจน จะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.วุฒิสภา) มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว. สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และ กลุ่มพิเศษ อีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มสตรี และ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ รวมถึง กลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมดจึงมีจำนวน 20 กลุ่ม
ดังนั้น “สว.บางคน” อาจหวังว่า ถ้าหากโชว์ฟอร์มดี อาจมีโอกาสเป็นตัวแทนกลุ่ม ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯที่ทรงเกียรติอีก เพราะหากรวบรวมเสียงได้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ต้องการเปิดอภิปรายในช่วงเดือนเม.ย.67 ก่อนครบวาระ 1 เดือน อีกทั้งในห้วงเวลาดังกล่าว พรรคฝ่ายค้าน นำโดย “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) คงยื่นญัตติอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล เท่ากับ รัฐบาลต้องเผชิญศึก 2 ด้าน เรียกว่า ในทางการเมืองต้องเผชิญแรงกดดันหนักพอสมควร
อย่างไรก็ตาม มีเสียงคัดค้านในสภาสูงบ้างเหมือนกัน โดย “พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช” สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภาเตรียมขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูฯ ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างและยังไม่เห็นรายละเอียดว่า สว.ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ สว. 84 คน ลงนามเพื่อขอเปิดอภิปราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่จำนวนที่น้อย
“ก่อนหน้านี้ก็ได้พูดคุยกับเพื่อน สว.บางคน บอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปี ทำไม สว.ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมา 3 เดือนกว่า กลับจะเปิดอภิปรายแล้ว ดังนั้นก็ต้องดูประเด็นว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวและตอบคำถามถึงกรณีจะให้เวลารัฐบาลปัจจุบันทำงานนานแค่ไหน ถึงสมควรที่จะเปิดการอภิปราย ว่า ขอให้สิ้นปีงบประมาณนี้ไปก่อน แต่พวกตนคงไปก่อนเหมือนกัน ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการเปิดอภิปรายตอนนี้ยังเร็วไป
ด้าน “ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” สว. ให้ความเห็นว่า การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของวุฒิสภา มีบทบัญญัติชัดเจน ให้สามารถเชิญรัฐบาลมาสอบถาม และชี้แจงถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำไป รวมถึงสามารถเสนอแนะให้กับรัฐบาล เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายเรื่องที่ประชาชนข้างแคลงสงสัย ไม่มีพื้นที่รับฟังคำอธิบาย นายกฯ และครม. สามารถใช้พื้นที่สภาฯ อธิบายผ่านวุฒิสภาสู่ประชาชน
เมื่อถามว่า สว.จะนำเรื่องใดขึ้นมาอภิปราย เป็นพิเศษหรือไม่ “ดิเรกฤทธิ์” กล่าวว่า ภาพกว้างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนโยบายจะแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขต ที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรธน. (ส.ส.ร.) แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว และยังไม่ได้อธิบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน
ส่วนที่หวังว่า จะให้นายกฯมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่นั้น “ดิเรกฤทธิ์” กล่าวว่า ข้อดีของมาตรานี้ คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจง โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบ พบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน
จากนี้ไป ต้องรอลุ้นกันว่า สว.จะเข้าชื่อครบ 84 คนหรือไม่ ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหา เพราะวุฒิสภาชุดนี้ ไม่มีรากเหง้า เกี่ยวพันกับรัฐบาลชุดนี้ “สว.หลายคน” คงอยากทิ้งทวนก่อนหมดวาระ อยากสร้างผลงาน อีกทั้งการอภิปราย ก็ไม่มีการลงมติ ซึ่งมองอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายบริหารก็อาจต้องการได้เวทีสภา เพื่อชี้แจงข้อข้องใจต่างๆ เพื่อให้สังคมเข้าใจถึงแนวทางการทำงาน และนโยบายที่ต้องการผลักดันคือ แจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สว.บางส่วน อยากเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 แบบไม่ลงมติ ในส่วนของครม. มีความพร้อมหรือไม่ว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามย้ำว่า ระยะเวลาในการบริหารประเทศมีเพียงแค่ 4 เดือน คิดว่าเร็วไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือว่ามันเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อมและยินดี
นับจากนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ การเตรียมตัวของแต่ละฝ่าย “ใคร” จะมีความพร้อม ใครจะนำเสนอข้อมูลที่มีน้ำหนักมากกว่ากัน เพราะทั้งสว.และรัฐบาลก็มีเป้าหมายและความมุ่งหวัง สมาชิกวุฒิสภาบางคนต้องการโชว์ผลงานในช่วงก่อนหมดวาร เพื่อมุ่งภารกิจในอนาคต ส่วนฝ่ายบริหารก็คงไม่อยากถูกเปิดแผล ในช่วงที่ฝ่ายค้านจะะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน
………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”