เรื่องราวของ การแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท กลับมาเป็นกระแสในสังคมอีกครั้ง!! หลัง “กฤษฏีกา” ได้ส่งความเห็นให้กับรัฐบาล ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาล
และความเห็นของกฤษฎีกา ก็เป็นเพียงแค่ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ได้ให้คำตอบว่ารัฐบาลทำได้!! หรือ…ทำไม่ได้!! เพราะไม่ได้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการ “ฟันธง”
ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ในฐานะผู้บริหารประเทศ ว่าจะเดินหน้าต่อ หรือไม่เดินหน้าต่อ
สุดท้าย!! จึงหนีไม่พ้นที่ คณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องเคาะ ต้องตัดสินใจว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ก่อนส่งให้ครม.พิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
ที่สำคัญ… ความเห็นของกฤษฎีกาในครั้งนี้ มีการตีความกันไปในหลายทิศทาง มีทั้งตีความในทางเป็นคุณ ที่รัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และก็มีการตีความในทางลบ ที่เห็นว่ารัฐบาลควรยกเลิกนโยบายนี้ไปซะ
ข้างฝ่าย ความเห็นที่ให้ยกเลิก ก็มีการยกตัวอย่างประวัติสาสตร์ อย่าง “โครงการรับจำนำข้าว” ออกมาให้เห็น ที่สุดท้ายแล้ว คนที่เกี่ยวข้องต้องหนีไม่พ้นต้องรับกรรม รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการ
ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาย้ำถึง การเดินหน้าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม แม้จะยอมรับว่า เป็นเรื่อง “หนักใจ” ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ยังต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจให้ชัดเจนต่อไป ทั้งสภาพัฒน์ทั้งผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต
“นายกฯเศรษฐา” ให้ความมั่นใจต่อสังคมว่า จะให้ความสำคัญกับทุกเสียง และจะยึดความถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะมา
หลากหลายความเห็นที่น่าสนใจ!! ในโครงการนี้ อย่างกรณีของ “สว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์” ที่แนะนำให้หารือกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒน์ รวมไปถึงแบงก์ชาติ
ด้วยเพราะ ความเห็นของกฤษฎีกานั้น ย้ำชัดว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ครั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การเงินการคลังมาตรา 53 ที่เกี่ยวกับวิกฤติประเทศ และมาตรา 57 เรื่องความคุ้มค่าการดำเนินการ
ก่อนหน้านี้ คนของรัฐบาลต่างดาหน้า เดินสายกันออกมาชี้แจงว่า เวลานี้ประเทศตกอยู่ในภาวะ “วิกฤติ” โดยหยิบยกสารพัดเหตุผลมาอรรถาธิบาย
เมื่อความเห็นของกฤษฎีกา อ้างอิงในเรื่องของกฎหมายการเงินการคลัง ตามมาตรา 53 และมาตรา 57 เรื่องราวของการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ก็กลับมาอยู่ใน “วังวนเดิม”
ดังนั้นการจะนิยามคำว่า “วิกฤติ” เพื่อให้กฎหมายกู้เงินในครั้งนี้ออกมาได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ต้องเห็นเหมือนกัน และสามารถอธิบายต่อสังคมได้อย่างไม่มีความเคลือบแคลง
ในมุมมองของ “สว.สถิตย์” ซึ่งก็เป็นคนเศรษฐกิจโดยตรง เพราะทั้งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ “ตลท.” หรือแม้แต่อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย
คำว่า “วิกฤติ” ต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนยาวนาน ประเทศเผชิญความยากลำบาก มีความรุนแรง ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน สร้างผลกระทบวงกว้างในภาคส่วนต่างๆ
นอกจากนี้ยังต้องมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคาร หรือราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจมองแค่…การชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน
ส่วนเรื่อง “ความคุ้มค่า” ก็ต้องไปดูผลกระทบต่อหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด?
มีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจในปีนี้ จะขยายตัวได้ที่ 3.2 % ขณะที่แบงก์ชาติบอกว่า หากมีเงินดิจิทัลเติมเข้าไปอีก 5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ถึง 3.8%
นั่น!! แปลว่า…เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.6% จากการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต แต่การกู้เงินในครั้งนี้ ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอีก 2-3% จากปัจจุบันที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 62.4% ซึ่งจะเพิ่มเป็น 64-65%
ท่ามกลางความกังขาของประชาชนคนไทย ว่าในที่สุดแล้วจะได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท หรือไม่? ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าท่าทีของคณะกรรมการดิจิทัลฯชุดใหญ่ ว่าจะเดินหน้าต่อ…หรือยอมถอย!!
……………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)