การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ถึงเวลานี้ เริ่มเห็นทิศทางชัดมากขึ้นว่า คงเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อดูปฏิทินการเมือง ก็พบว่าถึงตอนนี้สภาฯ-ส.ส. ชุดปัจจุบัน ที่มีวาระสี่ปี แต่ตอนนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่ถึงสองปี นับจากเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562
ทำให้พรรคการเมืองทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน รอช้าไม่ได้ เรื่องไหนในรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า เป็นปัญหาโดยเฉพาะเป็นปัญหาทางการเมืองกับฝ่ายตัวเอง ทำให้เสียเปรียบทางการเมืองโดยเฉพาะในการเลือกตั้ง -การตั้งรัฐบาล ก็ต้องใช้จังหวะนี้ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่เพื่อไม่ให้ถูกจับจ้องมาก จึงจำเป็นต้องเสนอแก้ไขมาตราอื่นๆ ประกบเข้าไปด้วย เพื่อพลางตาสังคมไม่ให้วิจารณ์ได้ว่าเสนอแก้ไขแต่ประเด็นเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายตัวเองและบล็อกฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับแวดวงการเมือง ของแบบนี้มันดูกันออก
โดยเมื่อจับกระแสผ่านท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ จับทางได้ว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะเกิดขึ้น หลังสภาฯ เปิดประชุมอย่างเป็นทางการเดือนพ.ค. จะมีการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็นสามทาง คือ
1.พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล จะยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเองพรรคเดียว
โดยกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนแล้วว่าจะยื่นต่อชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ ที่เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา
ซึ่งมีประเด็นหลักๆ ก็เช่น แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบบัตรสองใบ เหมือนตอนใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้ส.ส.มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน จากปัจจุบันที่ให้มีส.ส.เขต 350 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยพรรคการเมืองใดได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้ง
2.พรรคร่วมรัฐบาลสามพรรคจับมือกันยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา
เหตุที่สามพรรคดังกล่าวจับมือกัน เพราะต้องพึ่งพาเสียงส.ส.แต่ละพรรคในการลงชื่อ อีกทั้งมีแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกัน เช่น เสนอแก้มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขหลักเกณฑ์ออกเสียงวาระแรกและวาระสาม โดยแก้เป็น ให้ใช้เสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 และยกเลิกการใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญถึงจะมีผลแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ที่พบว่า เรื่องนี้พลังประชารัฐ ไม่ตอบรับเท่าใดนัก ขณะที่เรื่องเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้เป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ แม้ก่อนหน้านี้บางพรรคเช่น ประชาธิปัตย์ เอาด้วยอย่างแข็งขัน แต่ตอนหลังท่าทียังไม่แน่ชัด
3.พรรคร่วมฝ่ายค้านจับมือกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
ซึ่งแม้พรรคเพื่อไทย จะเสนอแก้ได้เองเพียงลำพัง แต่ดูเหมือนแกนนำพรรคเห็นว่า อยากให้ฝ่ายค้านเกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น ด้วยการเสนอแก้ไขเป็นญัตติเดียวกัน เพียงแต่รายละเอียดว่าจะเสนอแก้มาตราใดบ้าง ต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ประเด็นที่เห็นตรงกันแล้วก็มีเช่น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิทช์อำนาจวุฒิสภาในการโหวตเห็นชอบนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 หรือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาตามมาตรา 270 ที่ให้วุฒิสภามีหน้าที่และอํานาจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น รวมถึงเรื่อง ระบบการเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง เพื่อไทย-ก้าวไกล ก็แสดงท่าทีเห็นด้วยให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งสองใบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย
เพราะต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อไทย ได้ส.ส.เขตมากที่สุด 136 คน แต่เพราะระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม -บัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่นำไปสู่การหาจํานวนส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมี ทำให้พรรคเพื่อไทย ที่ส.ส.เขตไปเยอะจนครบจำนวนส.ส.ที่พึงมี พรรคเลยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ส่งผลให้แกนนำพรรคเพื่อไทยอดเข้าสภาฯกันเป็นแถบๆ เลยทำให้เพื่อไทย กระตือรือล้นมากในการให้แก้ไขระบบการเลือกตั้งเพื่อให้กลับไปใช้แบบบัตรสองใบ -แยกคะแนน และจำนวนส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ ออกจากกัน
โดย 3 เส้นทางในการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว ว่ากันตามจริง แต่ละกลุ่ม ก็ล้วนแล้วแต่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมองเรื่องความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมืองที่ฝ่ายตัวเองจะได้รับ ไว้เป็นสำคัญในการเดินหมากแต่ละหมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะมีขึ้น
เพราะอย่าง ฝ่ายค้าน ก็เชื่อว่า หากปิดสวิทช์สว.ในการโหวตนายกฯได้ จากที่สว.ยังมีอำนาจนี้อยู่อีกประมาณสามปีต่อจากนี้ ที่ก็คือ หากสภาฯอยู่ครบเทอม อีกสองปีข้างหน้านี้ สว.ก็ยังใช้อำนาจนี้ได้อยู่อย่างน้อยก็อีกหนึ่งครั้งในการร่วมโหวตนายกฯ หลังเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นเสียงสว. 250 คน ที่เป็นฐานที่มั่นทางการเมืองให้พรรคพลังประชารัฐ มั่นใจได้ว่า หลังเลือกตั้ง ยังไง ก็มีเสียงสว.อยู่ในมือ 250 คนที่จะมาช่วยโหวตนายกฯ จนเป็นแรงดึงดูดให้แต่ละพรรคการเมืองมาอยู่กับพลังประชารัฐเพื่อตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้
จึงไม่แปลกที่ พรรคฝ่ายค้าน ต้องการทลายนั่งร้านอำนาจสว.ในส่วนนี้เสีย เพราะไม่เช่นนั้น เลือกตั้งไป แต่สุดท้าย ตั้งรัฐบาลได้ยากหรือตั้งไม่ได้เพราะติดล็อกเสียงสว. โหวตนายกฯได้ ฝ่ายค้านก็เหนื่อยฟรี จึงพยายามปลุกกระแสปิดสวิทช์อำนาจสว.ดังกล่าว ซึ่งดูแล้ว หากไม่มี”สัญญาณพิเศษ“ส่งไปที่สภาสูง ก็ยาก ที่สว.จะมาลงมติเอาด้วยกับฝ่ายค้านตอนเสนอร่างเข้าไปให้รัฐสภาโหวต สุดท้าย ฝ่ายค้านเสนอแก้เรื่องนี้ไป ก็แก้ไขไม่ได้อยู่ดี
ขณะที่พลังประชารัฐ แสดงท่าทีชัดว่า ไม่เอาด้วยกับเรื่องปิดสวิทช์-ลดอำนาจสว. แม้จะต้องโดนเคลมว่า ที่พลังประชารัฐ ไม่เอาด้วยเพราะหวังผลจะใช้สว.250 เสียงเป็นฐานในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แต่ของแบบนี้ มีหรือที่ พลังประชารัฐ จะแคร์ เพราะมันคือไพ่พิเศษที่อยู่ในมือ เรื่องอะไรจะทิ้งไปก่อนเวลาอันสมควร
และอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การที่”พลังประชารัฐ“เอาด้วยกับการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง เพื่อต้องการให้กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ -แยกคะแนน แยกจำนวนส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ออกจากกัน เหมือนตอนเลือกตั้งปี2544,2548,2550 ,2554
ประเด็นนี้แวดวงการเมืองตั้งวงวิเคราะห์แล้วชี้ประเด็นไว้ว่าจากผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่พลังประชารัฐ ได้คะแนนดิบจากทั่วประเทศประมาณ 8,441,274 คะแนน โดยพรรคได้ส.ส.เขต 97คน และได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน รวมแล้วพรรคได้ส.ส.ทั้งสองระบบ 116 คน แต่ก็อย่างที่เห็น ช่วงสองปีที่ผ่านมา พลังประชารัฐ เติบโตขึ้นมาก เลือกตั้งซ่อมครั้งใด ก็ชนะเกือบหมด ทั้งที่ขอนแก่น-กำแพงเพชร-สมุทรปราการ-นครศรีธรรมราช ยิ่งกับการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล คุมความได้เปรียบทางการเมืองไว้มาก นักเลือกตั้ง รุ่นเก่า รุ่นใหม่ ต่างก็แย่งกันอยากลงส.ส.พลังประชารัฐ อีกทั้งหลายนโยบายของรัฐบาลเช่น “เราชนะ-คนละครึ่ง-เรารักกัน” ก็โดนใจประชาชนหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ
ทำให้มีการมองกันว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ากระแสพรรค-กระแสรัฐบาล-กระแสนายกฯลุงตู่ ยังดีอยู่ มีโอกาสมาก ที่พลังประชารัฐ จะได้ส.ส.เขตมากขึ้น เพราะมีกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคเคยประเมินกันว่า หากมีการเลือกตั้งพรรคน่าจะได้ส.ส.ระบบเขตไม่น้อยกว่า 130-140 คน ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต แล้วยังใช้ระบบการเลือกตั้งแบบปัจจุบัน ก็อาจทำให้ พลังประชารัฐ เป็นเหมือนพรรคเพื่อไทยตอนเลือกตั้ง 2562 คือ พลังประชารัฐ พอไปได้ส.ส.ระบบเขตเข้ามาก ก็จะทำให้พรรค อาจไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยสักคน หรือได้น้อยมากอาจไม่ถึงสิบคน
แวดวงการเมืองจึงไม่แปลกใจที่ทำไม พลังประชารัฐ ถึงเอาด้วยกับการให้ กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ–ไม่เอาระบบคิดจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ที่เคยทำให้เพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว -เสนอให้เพิ่มจำนวนส.ส.เขต จาก 350 คนเป็น 400 คน เป็นต้น
ทั้งหมดที่ พลังประชารัฐ เดินเครื่องเรื่องนี้ ก็เพราะแกนนำพรรคประเมินไว้ว่า เลือกตั้งรอบหน้า ขั้นต่ำพรรคต้องได้ส.ส.แบบก้าวกระโดดจากที่เคยได้ 116 คนตอนเลือกตั้ง 2562 เป็นไม่น้อยกว่า 150 คนหรือมากกว่านั้น โดยพรรคต้องได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย เพราะแกนนำพรรคส่วนใหญ่ก็จะไปลงบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ พลังประชารัฐ จึงเอาด้วยกับการแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะพรรคมองไกลไปถึงการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในอีกสองปีข้างหน้า จึงต้องเดินเกมอย่างที่เห็น เพื่อเสริมความได้เปรียบทางการเมืองให้กับตัวเอง
จากปัจจัยทั้งหมด ทำให้เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มีสิทธิ์เกิดขึ้นและสำเร็จได้ ในสภาพที่พรรคพลังประชารัฐถือแต้มต่อ เพราะมีเสียงสว.ในมือ ที่พร้อมจะโหวตเอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นที่พลังประชารัฐ กำลังดันเต็มเหนี่ยว
……………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”