“หมอธีระ” อธิบายความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทอัตโนมัติในผู้ป่วย Long COVID แนะป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทอัตโนมัติในผู้ป่วย Long COVID หรือ Post-COVID syndrome
เมื่อ 2 ม.ค.2024 ที่ผ่านมา วารสารการแพทย์ Nature Reviews Cardiology เผยแพร่บทความทบทวนความรู้ที่ดีมาก เกี่ยวกับปัญหาหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาทอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย Long COVID หรือ Post-COVID syndrome
หลังจากติดโควิดช่วงแรกไปแล้ว ผู้ป่วยเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระยะยาวดังที่เราทราบกันในชื่อ Long COVID ซึ่งเกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย
ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัตินั้นเป็นระบบหนึ่งที่พบปัญหาได้บ่อย และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่อ่อนเพลียเหนื่อยล้า มีปัญหาด้านความคิดความจำและสมาธิ ปวดหัว ทนร้อนทนหนาวไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว เป็นลม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว/เต้นช้าผิดปกติ ความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่า ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ทั้งนี้มีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีความหลากหลาย แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน โดยมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการกันอยู่ทั่วโลกจำนวนมาก ทั้งการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การให้ยาปรับภูมิคุ้มกัน การกระตุ้นเส้นประสาทสมอง Vagus การออกแบบโปรแกรมออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์อีกระยะหนึ่ง
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่างๆ ข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์และได้รับการดูแลรักษา โดยมักต้องการการดูแลแบบสหสาขา
……………………………….
อ้างอิง
Cardiovascular autonomic dysfunction in post-COVID-19 syndrome: a major health-care burden. Nature Reviews Cardiology. 2 January 2024.