วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทอ่อน" นิวไฮรอบ 1 เดือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทอ่อน” นิวไฮรอบ 1 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ในรอบ 1 เดือน หลัง ประธานเฟด
คงย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดหวัง กดดันทองคำปรับตัวลดลง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” ทุบสถิติใหม่ในรอบ 1 เดือน จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.29-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ยังคงย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดหวัง

ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทในช่วงนี้เช่นกัน ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ชัดเจน หรือไม่ เพราะการปรับตัวอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัวลง อาทิ Meta -1.9%, Amazon -0.9% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินที่ออกมาผสมผสานก็มีส่วนกดดันให้หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Morgan Stanley -4.2%, BofA -2.1% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.37%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.24% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรป เช่นกัน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงดังกล่าว ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Defensive อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare Novo Nordisk +0.8%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดหวัง ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคมลง เหลือ 63% จากที่เคยประเมินไว้เกือบ 81% ในวันก่อนหน้า ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.05% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ เรายังเห็นความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าคาด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดเผชิญความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทว่า การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับแถว 2,020-2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production)

ส่วนทางฝั่งยุโรป รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของผู้เล่นในตลาด ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง ECB และ BOE ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าแรงกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร ทำให้เราต้องปรับมุมมองใหม่ว่า ในช่วงนี้ เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยคลายกังวลต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันเงินบาท คือ ทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างไร

โดยหากผู้เล่นในตลาดเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก (อาจเห็นโอกาสการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ลดลงต่ำกว่า 50%) ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ กดดันเงินบาทและราคาทองคำ โดยเงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทะลุระดับแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวชัดเจน ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทั้งนี้ ในส่วนการประเมิน Valuation ของเงินบาท เราพบว่า แถวโซน 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทถือว่าอยู่ในระดับที่ Undervalued พอสมควร (Z-score ของ REER ต่ำกว่า -0.75) ทำให้โซนดังกล่าวอาจเป็นจุดกลับตัวในระยะสั้นของเงินบาทได้

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.60 บาทต่อดอลลาร์

    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

ว่าด้วยเรื่อง พัฒนา“พุทธมณฑล”

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img