เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงฟื้นตัวได้ช้าและเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลข GDP ปี 2566 และ 2567 เหลือ 2.4% และ 3.2% ตามลำดับแต่หากรวมโครงการ Digital wallet อาจส่งผลให้ GDP ปี 2567 อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.8% ได้
ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร -Clients & Markets และทัศดา แสงมานะเจริญ Senior Consultant – Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย วิเคราะห์ว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีความกังวลอยู่ แม้ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 4 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียง 8% เท่านั้น
นอกจากนี้การที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เงินเฟ้อติดลบยาวนานกว่า 2 เดือน วิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อและความต้องการออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 มีไม่ถึง 39.9 ล้านคน เช่นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
สำหรับการส่งออก เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงหดตัวที่ 2.7% เมื่อเทียบกับมูลค่าในปีก่อนหน้า แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด มูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าทุกประเภทในเดือนตุลาคม 2566 ยังโตขึ้นถึง 8% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว คือปัญหาหนี้ครัวเรือน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.9% ต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบางลง
อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ -0.83% เป็นการติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามเดือนและติดลบสูงที่สุดในรอบ 34 เดือน นำไปสู่ประเด็นที่มีการวิจารณ์กันว่าไทยอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือไม่ หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง มาจากมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐที่ปรับลดราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับราคาอาหารที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เราอาจมองว่า สินค้าบางประเภทยังมีราคาสูงอยู่ท่ามกลางค่าการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index:CPI) ติดลบ นั่นเป็นเพราะฐานของค่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ดีลอยท์มองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีการบริโภคจากภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ สำหรับการเติบโตของ GDP ในปี 2567 นี้ โดยการลงทุนภาคเอกชน จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นการลงทุนเพิ่มหรือเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนในไทย เช่น Changan, GAC, GWM, และ Rever นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังระบุว่า การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนใน 9 เดือนแรก ของปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าสูงสุดที่ 130.4 พันล้านบาท รวมถึงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 22%เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรก ปี 2565 อีกด้วย
เมื่อเร็วๆนี้เราได้เห็นเทรนด์การประมวลผลแบบเร่งความเร็ว (accelerated computing) ซึ่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าในเทคโนโลยี AI อย่างมหาศาล และแสดงศักยภาพการทำงานเต็มรูปแบบที่องค์กรต่างๆ ต้องเรียนรู้วิธีใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ AI จะช่วยเพิ่มผลผลิตของบริษัท ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจ และส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
การเกิดขึ้นและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ Generative AI ยังได้ปลดล็อกให้มีการใช้ประโยชน์จากแอพลิเคชันในตลาดใหม่ๆ มากมายและส่งผลให้ผลิตภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความสามารถเหนือความคาดหมายของ Generative AI หรือ GenAI อย่าง ChatGPT ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจาก GPT3 และปัจจุบันมีการใช้ GPT4 แล้ว ความแตกต่างที่สำคัญไม่เพียงแต่ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ประเภทของข้อมูลที่นำเข้าหรือสร้างข้อมูลใหม่ออกมาได้รับการพัฒนาอย่างมาก จากเดิมรองรับข้อความเป็นตัวอักษรเท่านั้น ปัจจุบันเราสามารถใช้ภาพหรือเสียงเป็นข้อมูลนำเข้าใน GenAI ได้ อย่างที่เห็นได้ชัดจาก Google Gemini นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างข้อมูลให้กับผู้ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอต่างๆ
AI จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอนาคตไปหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มตั้งแต่แรงงานคน จากเดิมที่ไอคิว (IQ) เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททำงานแทนมนุษย์ได้ ตัวชี้วัดความสำเร็จจะเปลี่ยนเป็นอีคิว (EQ) มุมมองทัศนคติ และ soft skill ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองเพื่อเรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก AI อาจกล่าวได้ว่าเราอาจจะไม่ตกงานเพราะ AI แต่คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จาก AI ต่างหากที่จะมาชิงตำแหน่งงานของเราไป
สิ่งสำคัญคือ เราต้องมองว่า AI เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น AI เปรียบเหมือน “ผู้ช่วยนักบิน” ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ช่วยทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังสามารถทำงานระดับพื้นฐานและซ้ำๆปริมาณมากได้อีกด้วย เช่น การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทดีลอยท์เรียกยุคนี้ว่า The Age of Withซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า
จากผลสำรวจCEO Survey ที่ Deloitte ทำร่วมกับ Fortune magazine เมื่อเดือนมิถุนายนและตุลาคม ปี 2566 พบว่า Generative AI ไม่ได้เป็นเพียงคำที่ซีอีโอพูดถึงอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป แต่มันกำลังกลายเป็นความจริง สังเกตได้จากซีอีโอหลายคนได้เปลี่ยนจากการประเมินและทดลองใช้ไปสู่การนำไปใช้จริงในวงกว้าง โดย GenAI ถูกนำไปใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบอัตโนมัติ ลดต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ และค้นหาแนวคิดหรือข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ รวมถึงเร่งการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้บทความล่าสุดของดีลอยท์ เกี่ยวกับ AI ชื่อว่า The Generative AI Dossier ได้นำเสนอแนวโน้มการใช้งานและประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเร่งกระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ และพบว่า มีการพิจารณานำ AI ไปใช้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนา การตรวจจับการทุจริต การปรับปรุงระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โรงงานอัจฉริยะ และอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก
เมื่อ Generative AI มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น ประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เมื่อถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ดีลอยท์มุ่งมั่นที่จะใช้ Generative AI อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักกรอบการทำงาน Trustworthy AI ซึ่งช่วยพัฒนาแนวทางป้องกันที่จำเป็นพร้อมกันกับการให้ความสำคัญทางจริยธรรม ระหว่างการพัฒนาและดำเนินงานผลิตภัณฑ์