“2 กมธ.” ถอยพบ “ลุงเปี๊ยก” หลังเข้ารักษาตัวในรพ.รอหายดีจะไปอีกรอบจะให้ช่วยเยียวยาหรือไม่ ด้าน “ชัยชนะ” แนะปิดช่องโหว่กฎหมายลงโทษเด็กทำผิดซ้ำครบ 18 ปีนำตัวเข้าคุกต่อ ขณะที่ “ณัฐชา” เตรียมถก “พม.-กระจกเงา” แกคนเร่ร่อน-ไร้ที่พึ่ง
เมื่อวันที่ 19 ม.ค.67 เวลา 10.00 น ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ทั้ง 2 กมธ.ยกเลิกการไปพบลุงเปี๊กสามีของป้าบัวผัน ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี อ.ธัญบุรี ปทุมธานี โดยนายชัยชนะ กล่าวว่า ที่เราไม่ได้ไปพบลุงเปี๊ยกเนื่องจากเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 ม.ค. ทราบตัวผู้ที่กระทำการทรมานต่อลุงเปี๊ยกแล้วและได้มีการแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทรมานลุงเปี๊ยกทั้งตำรวจขาเป๋ และรองผู้กำกับสืบสวนที่รับทราบเหตุแต่ไม่ยับยั้ง ประกอบกับลุงเปี๊ยกได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลธัญรักษ์ ที่เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทางจิตเวช เนื่องจากลุงเปี๊ยกเป็นแอลกอฮอล์ลิซึม ดังนั้น ทางกมธ.จึงรอให้อาการของลุงเปี๊ยกดีขึ้นก่อน เพื่อที่จะเข้าไปพบอีกครั้งและสอบถามว่า กระบวนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการไปนั้นพอใจแล้วหรือยัง และหลังจากนี้ต้องการเรียกร้องและเยียวยาอะไรบ้าง
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสาเหตุมาจากเยาวชนยอมรับสารภาพว่าก่อนที่ได้กระทำความผิดได้เสพยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาหลัก ดังนั้น ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนประชาชนขอให้รัฐบาลปราบปรายาเสพติดอย่างเด็ดขาด เพราะเราจะเห็นได้ว่าปัญหาสังคมทุกวันนี้ ไม่ว่าลูกฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่ายาย ก็มากจากยาเสพติดทั้งสิ้น และมาจากพนันออนไลน์ ซึ่ง 2 ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดอาชญากรรมมากมาย ซึ่งกรณีของป้าบัวผันถือว่าเป็นกรณีที่น่าศึกษามาก เพราะถ้าพูดกันตามตรงวันนี้ลุงเปี๊ยกเข้าไปเรือนจำ 100% แล้ว เพียงแต่เมื่อพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าไปดูก็ได้หลักฐานใหม่ ลุงเปี๊ยกจึงได้รับอิสระภาพและได้รับการบำบัด ดังนั้น ขอฝากว่าในการทำคดีต้องทำให้เรียบร้อยอย่าเร่งรีบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นดาบตำรวจและรองผู้กำกับสืบสวนที่มีส่วนใช้ถุงดำคลุมลุงเปี๊ยก ในการไปรีดและทรมานต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไปพึ่งใครได้หากกระบวนการไม่สามาถพึ่งพาได้
“เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีผู้กำกับโจ้ และหลังจากนั้นสภาฯได้ผ่านพระราชบัญญัติอุ้มหาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวของดาบตำรวจและรองผู้กำกับสอบสวนถือว่าผิดมาตรา 5 มีโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับ 3 แสนบาท ดังนั้นต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะวิธีการสืบสวนวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาไปอุ้ม หรือเอาไปรีด ดูกล้องวงจรปิด การใช้โทรศัพท์ดูทางอากาศผมว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องข้อกฎหมายที่ต้องมีการแก้ไขที่จะเอาผิดเยาวชน ต้องยอมรับว่ากฎหมายเปิดช่องให้เยาวชนพอสมควร ดังนั้นผมคิดว่าถ้าจะมีการแก้กฎหมายในอนาคตก็ต้องแก้ในส่วนที่กระทำผิดที่กำหนดว่าอายุ 18 ปี ต้องออกจากสถานพินิจ แต่การกระทำความผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไตรตรองไว้ก่อน ก็ควรที่จะให้บุคคลนั้นออกจากสถานพินิจแล้วเอาไปคุมขังที่เรือนจำกลาง ไม่เช่นนั้นในอนาคต สมมติว่าคนที่คิดทำร้ายผู้อื่นก็จะใช้เด็ก เยาวชนเหล่านี้เป็นเครื่องมือ เพราะอย่างไรโทษก็ไม่เกิน 18 ปี สมมติว่าเด็กคนนี้อายุ 15 ปี ก็รับโทษแค่ 3 ปีเท่านั้น จึงมองว่าถ้าเรามีช่องว่างทางกฎหมาย ก็มีช่องว่างการกระทำความผิด“ นายชัยชนะ กล่าว
ด้านนายณัฐชา กล่าวว่า ในฐานะกมธ.สวัสดิการฯ และมีข้อเรียกร้องจากสังคมจำนวนมากในเรื่องของกฎหมายการคุ้มครองเด็ก เรื่องบบทลงโทษเด็กที่กระความผิด เพราะวันนี้เยาวชนที่กระทำความผิด กระทำความรุนแรง และทำให้ผู้อื่นเสียหายจนถึงชีวิต ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73 74 และ 75 ระบุไว้ว่า เด็กที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษโดยส่งไปยังสถานพินิจ แต่อยู่ได้ไม่เกินอายุ 18 ปี หมายความว่าหากเด็กที่กระทำความผิดอายุ 14 ปี ก็ส่งให้คุมขังที่สถานพินิจได้สูงสุด 4 ปี สังคมอาจจะมองว่าเป็นการลงโทษที่เบามาก เป็นบทลงโทษที่ไม่สมควรแก่เหตุ ฉะนั้นเรื่องนี้ทางกมธ.สวัสดิการฯ ได้เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้ง ทั้งนักสิทธิมนุษยชน กระทรวงพม. ตัวแทนอธิบดีกรมกิจการเด็ก มาร่วมพูดคุยว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ในการประชุมของกมธ.เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พูดคุยเรื่องบทลงโทษแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงการแก้กฎหมายในกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายคือต้องการให้โอกาสเด็กที่พลาดพลั้ง ไม่อยากให้เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า เรื่องวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกรณีของป้าบัวผันนอกเหนือจากคดีฒชฆ่าคนตายปกติแล้ว ยังเป็นกรณีตัวอย่างที่ประชาชนตั้งคำถามอย่างมากว่าจะมีอีกกี่ครั้งที่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ และมีกระบวนการของตำรวจที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าโยนความผิดให้บุคคลที่เรียกว่าเป็นโรคจิต โยนความผิดให้กับผู้ที่มีฐานะยากจน โยนความผิดให้กับบุคคลที่ไม่สามารถต่อสู้ทางคดีความได้ ถ้าไม่เป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นข่าวก็อาจจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ไปแล้วหลายๆครั้ง และถ้าไม่มีวัตถุพยานที่เป็นกล้องวงจรปิด วันนี้ลุงเปี๊ยกอยู่ในเรือนจำไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าในการให้ความยุติธรรมกับพี่น้องประชาชหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ส่งเสริมให้ความจริงนั้นปรากฏ วันนี้หากไม่มีพยานหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดเราก็จับผู้บริสุทธิ์แทนกลุ่มที่กระทำความผิด ดังนั้น จากกรณีที่เกิดขึ้นจึงได้มีการหารือกับกมธ.ตำรวจว่า เราอาจจะหยิบบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นที่ต้องหารือกันอย่างจริงจังว่า สุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมหรือวิธีการพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากน้อยแค่ไหน และกระบวนการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สุดท้ายเป็นกระบวนการที่ผิด การที่จะย้อนกลับมาดำเนินการใหม่ สามารถทำได้หรือไม่ และผู้ที่อยู่ในสำนวนจะมีความผิดหรือไม่ เพราะจากคลิปเสียงที่ออกมาเหมือนว่าทำไปแล้วครึ่งทางก็อยากจะทำต่อให้จบ โดยที่เอาคนไม่ผิดไปจำคุกให้ได้ เมื่อมีพยานหลักฐานจึงมีข้อโต้แย้งขึ้นมา
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า ส่วนคนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในบริเวณต่างๆ แล้วถูกกระทำโดยผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มที่พยายามกลั้นแกล้ง เป็นพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง แต่เมื่อเขาตอบโต้กลายเป็นเขาผิด ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และคล้ายกับกรณีป้าบัวผันที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ถึงกับเสียชีวิตแต่ทุกข์ทรมานอยู่ ดังนั้น จะต้องดำเนินการให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความปลอดภัยเพราะหากเกิดคดีความเขาไม่มีความสามารถมากพอที่จะมาต่อสู้คดี