วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปลุกกระแส.....“ปรับครม.เศรษฐา 1” ลุ้น“นายกฯ”ทิ้ง“ก.คลัง”หนีปมร้อน 
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลุกกระแส…..“ปรับครม.เศรษฐา 1” ลุ้น“นายกฯ”ทิ้ง“ก.คลัง”หนีปมร้อน 

ไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ทำไมสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนถึงรุมซักถาม “หัวหน้ารัฐบาล” และผู้จัดการรัฐบาล ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งๆ ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เพิ่งแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.66 ถ้านับจากวันนั้นมาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน เท่ากับรัฐบาลเพิ่งทำงานมาได้แค่ 4 เดือน หรือมี “สัญญาณบางอย่าง” ที่ได้รับรู้มา

ขณะที่ “เศรษฐา” ตอบคำถามสื่อถึงกระแสข่าวการปรับครม.ยืนยันมาตลอดเวลาว่า ยังทำงานร่วมกันดีกับพรรคร่วมรัฐบาล และรัฐมนตรีทุกคนทำงานหนักมาก ตรงนี้ขอให้ฟังจากตนคนเดียวถึงเวลาเมื่อไรจะบอกเอง ทั้งนี้คิดว่าทุกคน มีการประเมินผลตลอดเวลา ติชม เสนอแนะ ไม่จำเป็นต้อง 6 เดือน 3 เดือน หรือ 1 ปี

เมื่อถามว่า พรรคไหนต้องการปรับรัฐมนตรีสัดส่วนของพรรคตัวเอง เสนอได้ใช่หรือไม่ “เศรษฐา” กล่าวว่า เท่าที่ได้ยินมา ทุกท่านมัวแต่ง่วนกับการทำงาน ไม่ได้สนใจเรื่องนี้

ภูมิธรรม เวชยาชัย

ด้าน ผู้จัดการรัฐบาล “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสการปรับครม.ทำไมถึงเกิดในช่วงนี้ มีสัญญาณอะไรจากทางพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่า ไม่มี เพราะพรรคร่วมรัฐบาลและทีมงานรัฐบาล ก็ทำงานร่วมกันเป็นทีมเครือ โดยวันที่ 25 ม.ค.จะมีการเชิญหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาล มารับประทานอาหารประจำเดือนอยู่แล้ว ส่วนข่าวลือเรื่องปรับครม. ได้ยินมาตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลแล้ว และเมื่อตั้งมาแล้วก็มีข่าวมาตลอด ซึ่งตอนยืนยันว่าไม่มีแน่นอน รัฐบาลนี้เหนียวแน่น แนบแน่น และยังทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะการวัด KPI ของรัฐมนตรี จึงมีกระแสข่าวการปรับครม.ขึ้นมาใช่หรือไม่ “ภูมิธรรม” กล่าวว่า ยังไม่มี รัฐบาลพึ่งทำงานได้ 4 เดือน ต้องให้เวลาทำงานเพราะการทำงานของแต่ละกระทรวงของครม.มีเวลาไม่เหมือนกัน ก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า เพราะการทำงานยากลำบากก็ยังไม่เกิดผล

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ออกมาเป็นเพราะยังคงมีบางตำแหน่งยังว่างอยู่ใช่หรือไม่ “ภูมิธรรม” กล่าวว่า เก้าอี้ที่ว่างอยู่หากจะปรับ ก็ยังไม่กระทบกระเทือนใคร ส่วนจะมีการปรับเข้ามาเสริมหรือไม่นั้น ก็จะต้องไปถามกับนายกฯ

ฟังสุ่มเสียงนายกฯและผู้จัดการรัฐบาล เหมือนกับว่ายังไม่มีท่าทีในการปรับครม. โดย “เศรษฐา” ถึงกลับกล้าระบุว่า  ขอให้ฟังตนเองคนเดียว แต่ในทางการเมือง ใครก็รู้ผู้มีอำนาจเต็มในพรรคเพื่อไทย (พท.) คือใคร ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะได้รับการพักโทษ ออกมาใช้ชีวิตได้อิสระ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ความเคลื่อนไหวของนายกฯคนที่ 30 จะถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งถ้าย้อนไปติดตามการทำงานฝ่ายบริหาร ที่มี “พรรคไทยรักไทย” (ทรท.) เป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งมี “นายทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ใครก็รู้เป็นคนคิดเร็ว-ทำเร็ว จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เพราะ “พรรคเพื่อไทย” ก็สืบเชื้อสายมาจาก “พรรคไทยรักไทย” รูปแบบและสไตล์การทำงานย่อมไม่แตกต่างกัน ยิ่งผลสำรวจของโพลชื่อดังเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า คะแนนนิยม “พรรคเพื่อไทย” เป็นรอง “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ทั้งพรรคและตัวบุคคล ดังนั้นถ้าหากไม่รีบ “ปิดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง” ฝ่ายบริหาร ให้ประชาชนได้เห็นผลงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทย  มีโอกาสพ่ายแพ้เครื่องจักรสีส้ม เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน

นอกจากนี้ถ้าติดตามการทำงานของ “รัฐบาลเศรษฐา” จะเห็นถึงความความขยัน ทั้งการเดินสายไปจังหวัดต่างๆ รวมถึงไปประชุมในเวทีสำคัญ เดินสายเยือนต่างประเทศ แต่รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยคนอื่น กลับไม่มีใครโดดเด่นจนเข้าตาประชาชน หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คะแนนของรัฐบาลคงมีแต่ลดต่ำลง ยิ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ พรรคฝ่ายค้านคงยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเป็นไฟลท์บังคับทางการเมือง

แม้ “พรรคก้าวไกล” จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคแกนนำรัฐบาล แต่คงหลีกเลี่ยงในการทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้ ยิ่ง “พรรคสีส้ม” ได้รับบทเรียนจากการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป แม้จะได้เสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อันเนื่องมาจากมีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้หลายพรรคไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย “แกนนำพรรคก้าวไกล” คงประเมินได้ ถ้าต้องการเข้ามาเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ต้องชนะการเลือกตั้งให้ขาดได้เสียงเกินครึ่งได้ยิ่งดี ดังนั้นการทำงานของนฝ่ายตรวจสอบ ต้องทำงานให้เต็มที่ ไม่เล่นบทฮั้วไม่เล่นบทกั๊ก ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา “เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมด้วยตัวแทนได้ยื่น 98 รายชื่อ สว. เพื่อขอเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อ ครม.แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 มาตรา 153 ต่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา

โดยระบุว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลนายเศรษฐา แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว มีทั้งสิ้น 7 ประเด็น โดยสรุปดังนี้

1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การดำเนินนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้จริงหรือไม่

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชาไม่เท่าเทียม

3.ปัญหาด้านพลังงาน

4.ปัญหาด้านการศึกษา สังคม

5.ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว

6.ปัญหาการแก้ไขรธน. มีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่

7.ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจากนี้ “เสรี” ยังระบุว่า ปัญหาที่เรานำมายื่นอภิปรายรัฐบาล ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทางรัฐบาลควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่กลับวนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต และอาจทำให้สำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญตามที่รัฐบาลเคยพูดมาโดยตลอด แต่ 4 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม

ส่วนอีกข้อที่สำคัญคือ กระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลสามารถรักษามาตรฐานความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ หาช่องหาผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอว่าบริหารมาเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่สามารถนำมาพูดกันได้

เมื่อถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจมีการโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเป็นต้องอภิปรายก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ “เสรี” กล่าวว่า เราไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่เราเน้นในหลักการ ดังนั้น จะเปิดอภิปรายก่อนหรือหลังไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ว่า จะยึดหลักยุติธรรมให้เป็นธรรมได้แค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า กระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้ได้กับทุกคนเท่าเทียมกัน

เชื่อว่าการทำหน้าที่ครั้งนี้ของ สว. ต้องมีข้อเปรียบเทียบกับฝ่ายค้าน หาก “สมาชิกสภาสูง” อภิปรายดี ข้อมูลมีน้ำหนัก คงได้รับเสียงชื่นชม เพราะคนในสังคมมักเชียร์ฝ่ายตรวจสอบ โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งอาจทำไม่สำเร็จและมีปัญหาตามมา รวมทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นกับความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม แม้จะไม่ระบุชื่อ “นายทักษิณ” แต่ใครก็รู้ว่า เป็นประเด็นเชื่อมโยงกัน เพราะนับตั้งแต่ “อดีตนายกฯ” เดินทางกลับมามอบตัวเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 แล้วเกิดอาการป่วย ต้องเขารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จนเกิน 120 วันนับมาถึงวันนี้ ก็ยังไม่ออกจากโรงพยาบาล ท่ามกลางการตั้งคำถาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องความเหมาะสม

ขณะที่หลังมีการเผยแพร่เอกสารข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลฯ ที่ศึกษาโดย คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี “สุภา ปิยะจิตติ” อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานคณะกรรมการฯ ที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องในด้านกฎหมาย และความจำเป็นในการนำเงิน ที่เป็นงบประมาณแผ่นดินมาแจก โดยเฉพาะการเป็นกู้ด้วย

ส่วน “รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์” ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช. และอดีตอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจำนำข้าวของสำนักงานป.ป.ช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตของคณะกรรมการของสำนักงานป.ป.ช.ก็คือ ต้องพิจารณาก่อนว่า ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตที่จะออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านบาทมาแจกประชาชน ตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯหรือไม่

ซึ่งจากการพิจารณา หลังคณะกรรมการฯเชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงาน มาให้ข้อมูลเช่นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ทางคณะกรรมการเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงและเฉียบพลัน โดยใช้เกณฑ์พิจารณา 7 เรื่องสำคัญตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์คือ วิกฤตสถาบันการเงิน-ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ-สภาวะค่าเงินบาท-วิกฤตหนี้กับต่างประเทศและหนี้เอ็นพีแอล-ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี-สถานะการคลังของรัฐบาล-สภวะเงินเฟ้อ โดยจากข้อมูลตัวเลขทั้งหมดก็พบว่า ประเทศไทยยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต

เชื่อว่าข้อมูลส่วนนี้ต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเวทีอภิปรายทั่วไปของ สว.แน่ๆ แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านก็ต้องนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะนโยบายในการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมา จะส่งผลทำให้รัฐบาลเสียเครดิตไปเต็มๆ

จนอดคิดไม่ได้ว่า บางที “เศรษฐา” อาจยอมทิ้งกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเป็นเป้าโจมตี เพราะนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ยังต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามอีกมากมาย สิ่งสำคัญในฐานะ “ผู้นำ” ต้องรับผิดชอบภาพรวมในการบริหารราชการแผ่นดิน ถือว่าเป็นภารกิจที่หนักมาก หากแบกทุกสิ่งเอาไว้ อาจกลายเป็นปัญหาตามมา รวมทั้งอาศัยจังหวะนี้กำจัดจุดอ่อนในรัฐบาล อย่าลืมว่าภารกิจของนายกฯคนปัจจุบัน  คือต้องส่งไม้ต่อให้ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” เข้ามารับหน้าที่ถือธงนำในการนำพาประเทศต่อไป ดังนั้นทุกอย่างจะต้องไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

…………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”                                

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img