วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทพลิกอ่อนค่า"ดัชนี PMI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทพลิกอ่อนค่า”ดัชนี PMI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.77 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด หนุนดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง ขณะที่ราคาทองคร่วง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.77 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.56-35.78 บาทต่อดอลลาร์) ก่อนตลาดรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ

หลังจากนั้นเงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ได้เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท

ภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่ก็มาจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) เป็นหลัก หลัง Netflix +11% รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังต่อแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ AMD +5.9%, Nvidia +2.5% หลังบริษัทผู้ผลิตชิพรายใหญ่ อย่าง ASML รายงานผลประกอบการที่สดใส ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.36% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.08%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาพุ่งขึ้น +1.18% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง ASML +9.7% และ SAP +7.6% ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ บรรดาหุ้นในธีมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ทั้ง หุ้นในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +1.9% ยานยนต์ Volkswagen +1.6% และเหมืองแร่ Rio Tinto +1.6% ต่างปรับตัวขึ้น ตอบรับความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวดีขึ้น หลังทางการจีนได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนตลาดทุนเพิ่มเติม

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงสดใส รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ที่แม้ส่วนใหญ่จะมาจากหุ้นเทคฯ ใหญ่) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ปรับตัวขึ้น ต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับ 4.20% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า หากผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก ก็จะส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์ (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงทั้งในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป (ซึ่งช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร) ได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ไว้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.4 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว เพื่อหวังลุ้นการรีบาวด์ระยะสั้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโซนแนวรับนี้มักจะเป็นโซนที่เห็นการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อนึ่ง โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ตลาดทยอยรับรู้ในช่วง 20.15 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งเราประเมินว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00% ทว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ มุมมองของ ECB โดยเฉพาะมุมมองของประธาน ECB ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ คาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

สำหรับฝั่งไทย มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทยล่าสุด เพื่อประกอบการประเมินทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2024 และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ ก็ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดที่ตลาดได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในโซน 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ (เราขยับโซนเล็กน้อย หลังจากวันก่อนหน้าเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปเล็กน้อย) เนื่องจาก หากบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามความหวังการฟื้นตัวของตลาดทุนจีนและเศรษฐกิจจีน ก็อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นเพิ่มเติมได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็อาจลดทอนแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง

อย่างไรก็ดี คงมองว่า เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า ภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น (ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงได้แน่นอน) ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมจังหวะการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทในระยะสั้นจะยังเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยมีโอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย หรือ ยังไม่เริ่มพิจารณาถึงการปรับลดดอกเบี้ย ก่อนที่เงินดอลลาร์จะมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้หลังจากนั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจจะลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่น้อยกว่าและช้ากว่าที่ตลาดกำลังประเมินอยู่ล่าสุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์

    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img