“เสรี” จี้ “นายกฯ” แจงซักฟอกม.153 ด้วยตัวเอง ย้ำขออภิปรายเดือนก.พ. ห่วงถูกยื้อจนหมดสมัยประชุมก่อน เปิดข้อสอบปมรีดสินบนอธิบดีกรมการข้าว-หมูเถื่อน-ตีนไก่ แฉซ้ำเรื่องสินบนมีมาตลอดแบบบีบบังคับให้ปชช.ต้องจ่ายฝ
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 เวลา 09.50 น.ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงความคืบหน้าหลังยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ต่อประธานวุฒิสภาแล้วว่า ประธานวุฒิสภาได้นำญัตติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อประสานงานกับสว.ที่จะอภิปรายในญัตติดังกล่าว และรวบรวมประเด็นที่สว.แต่ละคนจะอภิปราย ซึ่งตอนนี้ได้จัดทำแบบสอบถามสว.แต่ละคนที่จะอภิปราย เพื่อจัดลำดับการอภิปรายให้ครอบคลุมทั้ง 7 ประเด็น เพื่อให้รัฐบาลจะได้จัดรัฐมนตรีมาชี้แจง ถ้าเป็นไปได้ขออภิปรายเดือนก.พ. และอยู่ที่รัฐบาลพร้อมและแจ้งวันที่สะดวกเป็นวันใด ซึ่งตนขออภิปราย 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร ดังนั้นครม.ต้องจัดรัฐมนตรี หรือนายกฯจะมาชี้แจงเอง แต่นายกฯควรจะมาชี้แจงเอง เพราะเป็นการอภิปราย ถ้าหัวหน้ารัฐบาลไม่มาก็อาจจะทำให้ความชัดเจนของเนื้อหาที่จะตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เห็นนโยบายที่แท้จริงของรัฐบาล ดังนั้นจึงหวังว่านายกฯจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง
นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดผู้อภิปรายมีจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และมีข้อมูลที่จะบอกกับรัฐบาลว่าควรจะต้องทำอย่างไร เช่น นายถวิล เปลี่ยนศรี นายสมชาย แสวงการ นายคำนูญ สิทธิสมาน เป็นต้น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงต้องทำแบบฟอร์ม ให้สมาชิกแสดงความจำนงอภิปราย ซึ่งตอนนี้สว.ที่มาแสดงความจำนงที่จะอภิปรายมีหลายสิบคนแล้ว
เมื่อถามว่า ตอนนี้ตัวญัตติยังไปไม่ถึงรัฐบาล ห่วงหรือไม่ว่าจะดึงให้ไปอภิปรายพร้อมกับช่วงที่สส.อภิปราย ซึ่งอาจจะเป็นเดือนมี.ค. หรือเม.ย. นายเสรี กล่าวว่า อยู่ที่สะดวก ความจริงใจ และสุจริตใจ ในการที่จะมาร่วมกันทำหน้าที่เหล่านี้ เพราะระยะเวลาที่สภาฯจะครบสมัยประชุม คือวันที่ 9 เม.ย. ดังนั้นควรต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนก.พ.หรือมี.ค. แต่สว.ไม่อยากให้ชักช้า ถ้าหากอภิปรายในดือนก.พ.ได้ ก็ถือว่าสะดวกและไม่ไต้องไปเสี่ยงกับช่วงที่จะหมดสมัยประชุม
เมื่อถามว่า นิด้าโพลเปิดความเห็นของประชาชนต้องการให้ชะลอโครงการดิจิทัล วอลเล็ตไว้ก่อนซึ่งสอดรับกับในญัตติของสว.ด้วย นายเสรี กล่าวว่า ใช่ เพราะจริงๆเป็นเรื่องต่อเนื่องกันจากเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล เป็นเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ยั่งยืน ไม่เป็นภาระของประเทศ ซึ่งขณะที่สว.ยื่นญัตติดังกล่าวรัฐบาลก็ยังยืนยันที่จะทำโครงการนี้อยู่
เมื่อถามว่า มองการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างไร ที่ล่าสุดมีคนของรัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จากอธิบดีกรมการข้าว ประเด็นนี้จะนำไปสู่การอภิปรายด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ประเด็นนี้มีอยู่ในหัวข้อเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหลายเรื่องทั้งเรื่องหมูเถื่อน ตีนไก่เถื่อน ที่เป็นการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และต้องยอมรับว่าการบริหาราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน แม้กระทั่งประเด็นที่นำเสนอเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น รวมถึงการาทุจริตของภาครัฐอยู่ในการตรวจสอบ ซึ่งเราต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกัน เพราะไม่ใช่มีแค่นี้
“จริงๆแล้วเรื่องรับสินบน เกิดขึ้นตลอด แม้กระทั่งในช่วงเวลานี้ ประชาชนที่สัมผัสกับหน่วยงานราชการ ที่ให้บริการประชาชนถูกเรียกเงินกันมาตลอด และการเรียกเงินเขาเรียกแบบบีบบังคับ ให้ประชาชนยอมจ่ายให้ โดยมีวิธีการที่เจ้าหน้าที่เองไม่ได้เป็นคนเรียก แต่ใช้กระบวนการในการใช้อำนาจหน้าที่แล้วให้ประชาชนยอมจ่ายให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน” นายเสรี กล่าว