วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSคุมโฆษณาเร่ง‘ก่อหนี้’ ไม้ตาย‘ลดหนี้ครัวเรือน’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คุมโฆษณาเร่ง‘ก่อหนี้’ ไม้ตาย‘ลดหนี้ครัวเรือน’

“หนี้” ของแสลงของคนไทยทั้งประเทศ!! ยุคนี้สมัยนี้ การไม่มีหนี้!! ถือเป็นลาภอันประเสริฐ!! กลายเป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยทั่วประเทศ

แต่…ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่? เพราะทุกวันนี้ คนไทยทั่วประเทศก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะความเป็นหนี้ได้

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพี!!

ที่น่าเป็นห่วงหนักหนา!! เห็นทีหนีไม่พ้นการเป็น หนี้บัตรเครดิต, หนี้เงินผ่อน หรือ “ลีสซิ่ง” รวมไปถึง สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดในรอบทศวรรษ กันทีเดียว

ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี บอกว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ที่เรียกได้ว่า…เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ

ที่สำคัญในช่วงหลังๆ มานี้ การขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการ “หนี้นอกระบบ” เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย นั่น… สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ แถมยังเป็นการก่อหนี้ที่ไม่มีวินัย

ขณะเดียวกัน หนี้เหล่านี้ มีดอกเบี้ยสูงกว่าระบบอยู่แล้ว และยังเสี่ยงก่อให้เกิดเป็นกับดักหนี้ไม่สิ้นสุด จึงไม่ต้องสงสัยว่า…ทำมั๊ย ทำไม? หนี้ครัวเรือนไทยถึงลดยากลดเย็น

เรื่องนี้!! หนีไม้พ้นต้องเป็นหน้าที่ของ “ผู้บริหารประเทศ” รวมไปถึงทุกฝ่าย ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องทำให้เศรษฐกิจรากหญ้า รากแก้ว ทั้งหลาย ต้องฟื้นตัวให้ทั่วถึง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้หมู่มวลรากหญ้า

อย่างไรก็ตาม หนี้จะเกิดหรือไม่เกิด จะมีหรือไม่มี ก็อยู่ที่ “ตัวเรา” เป็นหลัก รู้จัก “พอเพียงและเพียงพอ” ก็ไปรอด!! ถ้า…หน้าใหญ่เกินตัว ก็หนีไม่พ้นเป็น “หนี้”

ขณะที่ผู้กำกับอย่าง “แบงก์ชาติ” ก็พยายาม “ล้อมคอก” กันทุกทาง กับการ “ให้กู้” อย่างล่าสุด…ก็ออกเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมใน 8 ด้าน เพื่อกำกับดูแลไม่ให้แบงก์เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ “หนี้” ไม่ลด

โดยเฉพาะ…เรื่อง การโฆษณา ที่ต้อง…ถูกต้องชัดเจน ครบถ้วน เปรียบเทียบเงื่อนไข ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ และต้องไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้จนเลยเถิดเลยความจำเป็น

ไม่เพียงเท่านี้!! ยังห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขาย การให้รางวัล การให้ของขวัญ ก่อนการอนุมัติสินเชื่อ แบบที่เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง เช่นเพียงแค่สมัคร ก็รับเลยกระเป๋าเดินทาง…อะไรเทือกนี้

เพราะ…ต้องยอมรับว่า แรงดึงดูดเหล่านี้ เป็นแรงกระตุ้นให้ “คน” เดินเข้าบูท ทำบัตร-สมัครสินเชื่อ เพียงแค่…อยากได้กระเป๋า มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ขณะเดียวกันต้องมีคำเตือนที่ว่า “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ในโฆษณาของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทด้วย เพราะหวังให้กระตุกพฤติกรรมไว้สักนิด…ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้

หนี้-บัตรเครดิต / cr : www.ncb.co.th

ส่วนพวกบัตรเครดิต ก็ต้องมีคำเตือน“ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย” โดยให้แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

นอกจากนี้ผู้กำกับ ยังยกตัวอย่างคำโฆษณาสารพัด ที่ชวนให้เป็น “หนี้” เพื่อป้องปรามไม่ให้นำมาใช้ เช่น ของมันต้องมี อยากได้ต้องได้ หรือ จะเป็นช็อปหนักแค่ไหนก็รวย เหมือนเดิม, รสนิยมสูงทักมา หรือ…เปิดวงเงินไว้ พร้อมใช้ช็อปปิ้งได้หลายแบรนด์

ประโยคเหล่านี้…ถือว่าเป็นการเชิญชวน ทำให้เกิดการเป็นหนี้เกินควร !!

เช่นเดียวกับข้อความเชิญชวนที่ว่า…ใครๆ ก็กู้ได้ หรือ ไม่ดูเครดิต ก็กู้ได้ หรือ ไม่เช็กเครดิตบูโร เหล่านี้ ก็เท่ากับว่า ไม่ได้พิจารณาเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้

หรือจะเป็น… กู้เงินเรื่องง่ายๆ หรือ กู้ง่าย หรือ อนุมัติง่าย คำพูดเหล่านี้ยิ่งเป็นการยั่วยุเร่งให้ก่อหนี้เร็วขึ้น หรือแม้แต่รูปภาพโฆษณา อย่าง ภาพนอนบนกองเงิน เงินปลิวลอยเป็นจำนวนมาก หรือ ภาพจำนวนเงินที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่โฆษณา ถุงสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมาก

เอาเป็นว่า…ข้อห้ามสารพัดที่ออกมาเหล่านี้ จะแรงพอ…จะทัดทาน “ความอยาก” ของ “ลูกหนี้” ได้มากน้อยเพียงใด ต้องรอดูกันต่อไป!!

เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีข้อห้าม มีคำเตือน การโฆษณาที่ไม่เชิญชวนหรือยั่วยุให้ก่อหนี้มาแล้ว แต่สุดท้าย “หนี้” ก็ยังอยู่คู่กับคนไทยจนไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

……………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img