การประกาศลาออกแบบยกทีมทั้ง 24 คน ของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ที่อยู่ภายใต้ คณะกรรมการซอฟเพาเวอร์แห่งชาติ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นนโยบาย ต้องถูกบั่นทอนลงอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แม้ “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะอ้างว่า คณะอนุกรรมการฯที่ลาออกมีข้อจำกัดด้านเวลาก็ตาม
แต่หากจับความรู้สึกของ “น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี” ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ที่ได้โพสต์ในหนังสือขอลาออกของอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ได้แจ้งเหตุผลในทำนอง ว่า ภาระกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการลงรายละเอียดตามแผนงาน ซึ่งเกินความสามารถของอนุกรรมการฯและที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ เนื่องจากมีภาระกิจต้องดูแลธุรกิจของตนเอง
เมื่อฟังเหตุผลแล้วรู้สึกทะแม่งๆ เพราะก่อนที่จะอาสาเข้ามาทำงานนั้น ก็น่าจะพอรู้ว่า ต้องใช้เวลา ต้องเสียสละและต้องทุ่มเทอย่างมาก ยิ่งบอกว่าเกินความสามารถ ก็ยิ่งแปลกใจ เพราะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ถือว่าเป็นแถวแรกๆ ของวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย
ฟางเส้นสุดท้ายที่เร่งเร้าให้อนุกรรมการฯตัดสินใจยกทีมลาออกแบบไม่ใยดี น่าจะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 ม.ค.67 เมื่อ “น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี” ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้โพสต์ข้อความ…ว่า
“คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไอเดีย Guinness นี้นะคะ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมาก
ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเองเห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไรคะ ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมากเพื่อวางกรอบคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนท์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้าง value อะไรขึ้นมา
ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย
ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วยค่ะ เงินภาษีประชาชน”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สะท้อนเป็นนัยๆ ถึงกระบวนการทำงานที่อาจจะไม่มีความเป็นอิสระ มีการเมืองเข้ามาแทรก น่าจะเป็นความอึดอัดที่สะสมมานาน คงไม่ใช่แค่เรื่องกางเกงช้างเท่านั้น ที่ทำให้ต้องโบกมือลายุติบทบาทในการร่วมงานกับรัฐบาล
คงปฏิสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี มีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งในทางปฏิบัติงานนี้ พรรคเพื่อไทยพยายามผลักให้ดันนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ให้เป็นผลงานของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร โดยมี “หมอเลี๊ยบ” กรรมการเลขานุการฯ เป็นพี่เลี้ยง ต้องเสียงรังวัดทางการเมืองไม่น้อย
ดูเหมือนว่าทุกอย่างดูไม่ราบรื่น มีปัญหามากมาย ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งการให้นิยามก็ยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไร ขอบเขตกว้างหรือแคบแค่ไหน เมื่อนิยามไม่ชัด ทุกอย่างก็สะเปะสะปะ เมื่อคราว “อุ๊งอิ๊ง” เสนอเรื่องจะจัดงานสงกรานต์ทั้งเดือน ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว
ต่อมาก็ถูกวิพากษวิจารย์เรื่องการจัดสรรงบประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการนี้ งบฯส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับ “งานประชาสัมพันธ์” และการจัดอีเวนท์ต่างๆ ที่ปีนี้มีแผนจัดงานถึง 10,000 อีเวนท์ สะท้อนจากสาขาเฟสติวัล ได้งบฯมากที่สุดกว่าพันล้านบาท รองลงมาก็เป็นด้านอาหารพันล้านบาท และท่องเที่ยว 700 กว่าล้านบาท ทั้งหมดล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เน้นจัดอีเวนท์และงานโฆษณาประชาสัมพันธ์
แต่ที่สร้างความฮือฮาและกลายเป็นเชื้อความไม่พอใจของอนุกรรมการฯฝ่ายแฟชั่นคือ การโหมประโคมข่าวของการท่องเที่ยวประเทศไทย (ททท.) ที่จัดงานอีเวนต์ใหญ่ “THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE” จัดแข่งขัน 5 ที่สุดของโลก
โดยรูปแบบ ประกอบด้วย ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที, ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที, กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที, ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที และกินป๊อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อรรถาธิบายว่า การแข่งขันแต่ละรายการ ได้เลือกเอาสินค้าท่องเที่ยว และซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานำเสนอ ในแง่ของการแสดงอัตลักษณ์สินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวไทย เพื่อทำให้ประเทศไทย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำด้านซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ฟังเหตุผลของ “ททท.” แล้ว ไม่รู้ว่าเข้าใจความหมายซอฟต์เพาเวอร์แค่ไหน???
อันที่จริงซอฟต์พาวเวอร์ของไทย มีของดีที่สามาถยกระดับและต่อยอดได้สบายๆ เช่น ต้มยำกุ้ง ที่เป็นอาหารหรูและยอดนิยมในต่างประเทศ นวดแผนไทยและสปา ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติค่อนข้างมาก ยิ่ง มวยไทย ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเภทของศิลปะการต่อสู้ และได้ถูกลอกเลียนเอาไปดัดแปลงไปในหลายๆ รูปแบบ เช่น คิ๊กบ็อกซิ่ง ล่าสุดจะได้รับการบรรจุเข้าไปในกีฬาโอลิมปิกในครั้งต่อไปแล้ว แค่สองสามเรื่องนี้ รัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ ก็สร้างรายได้เข้าประเทศมากมาย ดีกว่า แข่งขันเป่าลูกโป่ง-นุ่งกางเกงช้าง-กินปาท่องโก๋
ของดีๆ มีอยู่มากมาย แต่กลับเน้นไปกับงานพีอาร์ประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมอีเวนท์ ถลุงงบประมาณไปเปล่าๆ
……………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)