คนไทยนอกจากจะต้องรับมือกับอากาศร้อนชื้น ยังต้องเจอกับกับแมลงต่างๆ ที่เข้ามาในบ้านของเราโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “ยุงลาย” ซึ่งเติบโตในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยได้ดี และมักจะสร้างความรำคาญให้แก่เราด้วยการกัดตามร่างกาย ทำให้เกิดตุ่มแดงคัน อาการแพ้ หรือแผลเป็น แถมยังทำให้เรามีโอกาสเป็น ‘โรคไข้เลือดออก’ ซึ่งทำให้เรามีไข้สูง และอาจมีอาการรุนแรงจนอันตรายถึงชีวิต โดยกรมควบคุมโรคเผย ปี 2566 มีตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกสูงถึง 156,079 ราย และเสียชีวิต 175 ราย!
วันนี้ นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงความอันตรายของโรคไข้เลือดออก พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและรักษา เพื่อจะได้รับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกวิธี
‘ไข้เลือดออก’ ขั้นรุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิต!
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 โดยโรคนี้ไม่ได้ติดจากคนสู่คนโดยตรง แต่ติดต่อผ่านทางยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค ไปกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสมาก่อนแล้วมากัดอีกคนหนึ่งในภายหลัง
“ปกติหากเราติดโรคไข้เลือดออกครั้งแรกอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากติดเชื้อซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก คนไข้มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงได้ เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง บางรายมีการรั่วไหลของน้ำออกจากหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ขาดน้ำ บางรายมีเลือดออกรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้” นพ.บารมี อธิบาย
โรคไข้เลือดออก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือ ระยะไข้สูง (Febrile phase) ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส โดยไม่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ แต่จะมีอาการร่วมอื่นๆที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และไข้มักจะลดลงในระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ส่วนระยะที่สองคือ ระยะวิกฤต (Critical phase) หลังจากระยะไข้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะวิกฤตในวันที่ 5-7 ของไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีการรั่วไหลของน้ำออกจากหลอดเลือด ในบางครั้งอาจมีความรุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเดงกีช็อก และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ระยะสุดท้ายคือ ระยะฟื้นฟู (Recovery phase) หลังจากผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีอยู่ในระยะวิกฤตนานประมาณ 24-48 ชั่วโมง ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นตัว โดยเป็นช่วงที่ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวจนอาการต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็วตามลำดับ
แพทย์แนะ ฉีดวัคซีน ‘ไข้เลือดออก’ กันติดเชื้อได้ 80%
โรคไข้เลือดออกนั้นสามารถเป็นได้ทุกคนเมื่อโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะในเด็กๆ ช่วงอายุ 5-14 ปี ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พบอัตราการป่วยมากที่สุด โดยทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้หลายวิธี เช่น ทายากันยุง ใส่เสื้อให้มิดชิด และดีที่สุดควรเลี่ยงการโดนยุงกัด แต่อาจจะเลี่ยงไม่ได้ตลอด ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
นพ.บารมี เล่าถึงการฉีดวัคซีนว่า “ปัจจุบันวัคซีนไข้เลือดออกครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ แนะนำให้ฉีดวัคซีนคิวเดงกา (Qdenga) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80% อีกทั้งยังป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดความรุนแรง ลดโอกาสช็อกได้ถึง 90% ซึ่งตัววัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่จะมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วย HIV เป็นต้น รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร”
วิธีการรักษา ‘โรคไข้เลือดออก’
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ การรักษาโรคจึงเน้นรักษาตามอาการ และระยะของโรค เช่น การรับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำเกลือแร่ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือเริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤต ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะสารน้ำรั่วไหลออกจากหลอดเลือด เลือดออกอย่างรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะช็อก หรือเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
“ทุกวันนี้อุณหภูมิของโลกค่อยๆ สูงขึ้น ส่งผลให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น โอกาสที่เราจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจึงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทางที่ดีเราจึงต้องป้องกันตัวเอง โดยการเลี่ยงการโดนยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆ บ้าน พร้อมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไข้เลือดออกนั้นสามารถเป็นซ้ำได้ตลอดชีวิต เวลาติดเชื้อขึ้นมาจะได้ป้องกันอาการรุนแรง และสามารถฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงได้ไวขึ้น” นพ.บารมี กล่าวทิ้งท้าย