วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightยก‘เชียงใหม่’โมเดลแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ‘นายกฯ’สั่งกำชับผู้ว่าฯดูแลพื้นที่เข้มงวด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ยก‘เชียงใหม่’โมเดลแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ‘นายกฯ’สั่งกำชับผู้ว่าฯดูแลพื้นที่เข้มงวด

นายกฯ ยกเชียงใหม่เป็นโมเดลแก้ปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ​กำชับ ‘ผู้ว่าฯ’ ดูแลพื้นเข้มงวด ไม่ปล่อยมีการเผา หากพบละเลย ลงโทษตามระเบียบ

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 6 ก.พ.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง สั่งการในที่ประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นอันดับต้นๆ อย่างจริงจัง โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งการลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ของนายกฯ ถือเป็นจังหวัดต้นแบบ ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ขณะนี้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ลดลง โดยเฉพาะเดือนม.ค.เมื่อเทียบย้อนหลังไปถึง 10 ปี โดยม.ค.ปีนี้คนเชียงใหม่บอกว่าปัญหาฝุ่นดีขึ้นที่สุด และปริมาณฝุ่นต่ำลงมาก แต่พื้นที่ กทม. และปริมณฑล ยังไม่ลดลง  ดังนั้นนายกฯ จึงเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเน้นการทำงานเชิงรุก ใช้กลไกและกฏหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ทุกหน่วยงานนำไปปรับใช้ เพื่อกำหนดมาตรการให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรม 

นายชัย กล่าวว่า โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้คือ 

1.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ให้เกษตรกรที่เผาเปลี่ยนไปใช้วิธีการฝังกลบ หากเกษตรกรรายใดติดปัญหาเรื่องเครื่องมือในการฝังกลบ ภาครัฐยินดีส่งเสริมแต่ถ้ายังฝืนเผาอยู่ จะถูกตัดสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกรูปแบบ

2.กรณีสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ นำเข้ากำหนดมาตรการลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่พิสูจน์ได้ว่า มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับการเผา เช่น การนำเข้าข้าวโพด ซึ่งแหล่งนำเข้าข้าวโพดมีการเผาตอซังข้าวโพด หากมีการพิสูจน์ได้ให้ทั้ง 2 กระทรวงระงับการอนุญาตนำเข้า

3.กำหนดให้มีการจับกุม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกประกาศเขตห้ามเผา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หากผู้ใดฝ่าฝืนให้มีการลงโทษตามกฏหมายอย่างเด็ดขาด

4.การลงโทษปรับ กรณีการเผาที่เป็นเหตุให้รำคาญ เรามีกฎหมายที่ว่าด้วยพระราชบัญญัติสาธารณสุข หากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เกี่ยวข้องจับกุมและลงโทษตามกฏหมาย ทั้งนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลพื้นที่ให้เข้มงวด ไม่ให้เกิดการเผาและลักลอบนำเข้า ถ้ายังเผา และปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการเผาจากประเทศต้นทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ และอาจถูกพิจารณาโทษตามกฎหมาย ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

5.แนวทางการสนับสนุนเชิงรุก ให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ หากมีเจ้าหน้าที่คนไหนหย่อนยานจะถูกลงโทษ นอกจากนี้ยังขอให้กระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้กับเกษตรกร เรื่องการไถกลบและผลเสียของการเผา นอกจากนี้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการสนับสนุน

“ขอให้ข้อสั่งการดังกล่าวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยขอให้คณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ให้นำแนวทางดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และทำให้เป็นมาตรการที่ชัดเจน เพื่อสนองตอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยด่วน”นายชัย กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img