จากการตรวจสอบ บันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี “สว.เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 พบว่า มีการแนะนำถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ว่า…โครงการนี้ เข้าข่ายว่า “จะให้” หรือไม่ และ “ทำได้ตามที่สัญญาไว้” หรือไม่ โดย แนะให้ กกต.ว่าเข้าข่ายเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ โดยส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการป้องกันแลปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้
“เฉลิมชัย เฟื่องคอน” กรรมาธิการฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ตามที่รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา เห็นว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 22 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตต่อรัฐสภา
ที่ผ่านมา พบว่า กรรมการการเลือกตั้งมิได้ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวในสภาแต่อย่างใด และในการพิจารณารายงานดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาและให้สัญญากับประชาชน
โดยจะมอบเงินให้แก่ประชาชนคนละ 10,000 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 กำหนดให้มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ในการประกาศโฆษณานโยบายที่ “มิได้” วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีดังกล่าว กกต. แจ้งว่า กรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการหรือจัดทำแล้วไม่ครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ “สั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้อง” ภายในระยะเวลาที่กำหนด เท่านั้น
โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยแจ้งว่า โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยจะแจกประชาชนทุกคน คนละ 10,000 บาท
ต่อเมื่อภายหลังการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล ได้เปลี่ยนแปลงโดยเป็นการแจกเงินเฉพาะกลุ่ม โดยเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อใช้สำหรับโครงการดังกล่าว และยังไม่มีความชัดเจนทั้งที่มาของเงินและผู้รับผิดชอบ
จึงเห็นว่าการเสนอนโยบายดังกล่าว เป็นการเสนอนโยบายที่ “มิได้” พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ และไม่ได้คำนึงว่าสามารถจะดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร การหาเสียงลักษณะดังกล่าว จะทำให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคต
กล่าวคือ พรรคการเมืองหาเสียงอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ การหาเสียงดังกล่าวจะเข้าลักษณะสัญญาว่าจะให้ เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าเพื่อจูงใจ ตาม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 (1) และ (5)
คือ (1) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ และ (5) หลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือไม่
“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ควรที่จะได้พิจารณาทบทวนว่า กรณีดังกล่าวสามารถเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรณีกระทำการทุจริต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 138 หรือไม่
บี้ “กกต.” ชง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ให้ “ป.ป.ช.-ศาลฎีกา” ตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 และมาตรา 235 สามารถมอบหมายให้เป็นอำนาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พิจารณาไต่สวน และส่งให้ศาลฎีกาตัดสิน หากเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ต่อไป
……………………………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม