วันนี้ขอเป็นเรื่องเบาๆ ความจริงอยากจะเขียนทั้งเรื่อง “นิตยภัต” จำนวนกว่า 1,200 ล้าน ทำไมบางรูปได้ บางรูปไม่ได้ บางรูปได้ตรงเวลา บางรูปเป็นปีก็ยังไม่ได้, เงินอุดหนุนมูลนิธิมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาโลก 2 ล้านกว่าบาท ใครไปทำอะไรหมด เพราะไม่เห็นมีผลงานอะไรเลย และมีเงินอุดหนุนประเภทนี้อีกเยอะแยะไปหมด
เมื่อตามไปดูการจัดสรรงบประมาณของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรวมถึง “มหากาพย์” เงินอุดหนุนค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมจำนวน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มพระปริยัติธรรมสายสามัญ สายบาลี สายนักธรรม และ พระปริยัตินิเทศก์
ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เกิดจากคณะสงฆ์ที่ส่งข้อมูลไม่ครบถ้วนจริงหรือไม่ เกิดจากคนของสำนักงานพุทธไม่ทำงานจริงหรือ หรือมีข่าวลือว่ามี พระบางรูป “กะล่อน” หัวหมอยัดใส่ชื่อลูกหลานบ้าง คนใกล้ชิดบ้าง รับค่าตอบแทนเงินเดือน เลยเกิดการร้องเรียน ข้อมูลเลยไม่ชัด สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติก็ทำอะไรไม่ได้ แบบนี้ก็มี??
“เปรียญสิบ” ขออนุญาตเก็บข้อมูลข้างต้นไว้เล่าและปล่อยเชื้อ “ไวรัส” ให้เก็บไปคิดกันในวันหน้า วันนี้ขอแบบเบาๆ เพราะจะเล่าสิ่งดีๆ ที่คณะสงฆ์ไทยในนามมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ให้ “ทุนการศึกษาฟรี” จำนวน 12 ทุนระดับปริญญาตรี กับคณะสงฆ์รามัญนิกายหรือ “คณะสงฆ์มอญ” เพื่อให้ได้มีโอกาสมาศึกษาต่อในประเทศ ซึ่งใน 12 ทุนนั่นประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์ จำนวน 7 ทุน วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติจำนวน 2 ทุน มจร วิทยาเขตบาฬีพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม 2 ทุน และ พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร ให้ทุนส่วนตัวอีก 1 ทุนการศึกษา
เหตุผลสำคัญที่มาของทุนก็เนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ.2562 พระเมธีวัชรบัณฑิตหรือ “เจ้าคุณหรรษา” ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ หรือ “IBSC” ท่านเคยได้รับมอบหมายจาก “พระพรหมบัณฑิต” อธิการบดี มจร ยุคนั้นให้เดินทางไปลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมหรือ “MOU” กับมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญ รัฐมอญ ประเทศเมียนมา อาศัยความร่วมมือนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับ “คณะสงฆ์มอญ” หลายประการ ทั้งเรื่องอบรม สัมมนาร่วม การมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ ในขณะที่ “มจร” ในฐานะ “พี่ใหญ่” เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
“เปรียญสิบ” ได้ยินทั้งจากคำพูดของ “พระพรหมบัณฑิต” และ “เจ้าคุณหรรษา” ที่พูดถึงคุณูปการที่คณะสงฆ์มอญมีต่อคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัย จนถึงกระทั้งองค์รัชกาลที่ 4 ฟังแล้ว ในฐานะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ฟังแล้ว..รื่นหูสบายใจยิ่งนัก
เพราะคณะสงฆ์มอญกับคณะสงฆ์ไทย ในอดีตมีการเกื้อกูลกันมาตลอด วันนี้มอญแม้ไม่มีประเทศ แต่มอญยังหลงเหลือวัฒนธรรมและประเพณีที่ยังแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนา
การช่วยเหลือคณะสงฆ์มอญให้มีการศึกษา ก็เหมือนกับการช่วยพระพุทธศาสนาในภาพรวม
“เปรียญสิบ” ในฐานะ “ผู้ประสาน” ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับคณะสงฆ์รามัญนิกายมานานนับสิบปี สิ่งที่ “มจร” มอบให้ทุกอย่างถือว่า..เป็นบุญคุณอันสูงสุดในชีวิต
และการมอบ “ทุนเรียนฟรี” ในลักษณะนี้ “มจร” ไม่ได้มอบให้แก่คณะสงฆ์มอญอย่างเดียว “มจร” มีทุนเรียนฟรีที่มอบให้กับทั้งพระภิกษุสามเณรไทย และพระภิกษุสามเณรนานาชาติ ซึ่งตอนนี้มาเรียนอยู่ที่ “มจร” ประมาณ 1,300 กว่ารูปจาก 28 ประเทศ
“เปรียญสิบ” บอกตรงๆ ว่า บางอารมณ์รู้สึก “ละอายใจ” เพราะผู้บริหาร “มจร” ให้มากกว่าที่คาดหวังเป็นอย่างมาก และทั้งรู้สึก “ลำบากใจ” เพราะเสมือนตัวเองกลายเป็นคน “ขี้ขอ” ไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็พยายาม “ปลอบใจ” ตนเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราทำมันคือ “จิตอาสา” เป็นงานรับใช้คณะสงฆ์ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน และทำเพราะไม่มีผลประโยชน์ เพราะทำด้วยจิตอาสา แบบนี้กระมั่ง.
คณะสงฆ์ไทย ผู้บริหาร มจร ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาส ขอทีไรบอกเมื่อไรเมตตาทุกครั้ง!!
………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]